ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โมเดลการทำงาน ‘ระดับจังหวัด’ ภายใต้ความร่วมไม้ร่วมมือของพื้นที่ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นแกนกลาง คือความน่าสนใจที่ “The Coverage” อยากนำเสนอ

เรื่องที่จะเล่าให้ฟังนี้ เกิดขึ้นใน จ.ชุมพร จังหวัดที่มี ‘ผู้สูงอายุ’ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

ทว่าจากแนวคิด ‘SALE Model’ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อและครบวงจร ทั้งการคัดกรองสุขภาพ สนับสนุนจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในชุมชน และพัฒนาให้เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ พร้อมจัดบริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแบบระยะยาว จนถึงการดูแลในระยะท้ายของชีวิต 

เราชวนฟังคำบอกเล่าจาก นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 11 ที่ฉายภาพการทำงานใน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 11 และสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานดูแล ‘ผู้สูงอายุ’ ในพื้นที่ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่กำหนดให้ปีนี้เป็น ‘ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย’

1

จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) พบว่า จ.ชุมพร มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 18.74 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของเขตสุขภาพที่ 11 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ถือว่ากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ 

นพ.กิตติศักดิ์ เล่าว่า สสจ.ชุมพร จึงได้นำรูปแบบ “SALE Model” มาใช้ในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ ดำเนินงานใน 4 ด้าน 

ประกอบด้วย 1. Screening สนับสนุนการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกมิติ ผู้สูงอายุที่คัดกรองและได้รับการประเมินสุขภาพพบว่าเสี่ยงหรือป่วย จะได้รับการส่งตัวเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่องในคลินิกผู้สูงอายุ ซึ่งจังหวัดชุมพรเปิดให้บริการคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกแห่งครอบคลุมร้อยละ 100

 2. Ageing Health Club สนับสนุนให้ทุกพื้นที่มีชมรมผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุ 140 ชมรม ทั้งหมดผ่านเกณฑ์คุณภาพ ในจำนวนนี้พัฒนาเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุแล้ว 28 แห่ง 

3. Long term care สนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงให้ครอบคลุม 

4. End of Life Care สนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต ในหน่วยบริการและในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชน 

2

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนางานผู้สูงอายุจังหวัดชุมพร เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับความต้องการ ปัญหาสาธารณสุข และนโยบายของรัฐบาล พร้อมติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมแบบไร้รอยต่อและครบวงจร 

ผลการคัดกรองผู้สูงอายุใน จ.ชุมพร ปี 2565 จำแนกตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) พบผู้สูงอายุติดสังคม ร้อยละ 95.80 ผู้สูงอายุติดบ้าน ร้อยละ 3.48 และผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 0.71

ในปี 2566 มีการคัดกรองกลุ่มอาการที่เป็นปัญหาเฉพาะหรือพบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ คัดกรองภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 48.96 พบผิดปกติ ร้อยละ 0.69 และคัดกรองภาวะหกล้ม ร้อยละ 61.84 พบผิดปกติ ร้อยละ 1.57 ซึ่งทุกรายได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม 

สำหรับการจัดระบบบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีทั้งหมด 74 แห่ง ผ่านเกณฑ์การประเมิน Long term care ทุกตำบล และมีบุคลากรทำหน้าที่ผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) 161 คน ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) 840 คน ส่วนการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต (End of life Care) มีบุคลากรผ่านการอบรมทุกหน่วยบริการ หน่วยละ 2 คน และมี อสม.ร่วมเป็นจิตอาสาในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ด้วย 

ทั้งนี้ สสจ.ชุมพร ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ ระยะเวลา 4 เดือน ใช้โรงพยาบาลในจังหวัดชุมพรเป็นฐานในการฝึกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตโดยจะเริ่มอบรมในวันที่ 1 กรกฎาคม-30 พฤศจิกายน 2566 นี้