ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วย 50(5) จ.ร้อยเอ็ด เผยแนวทางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรณีเกิดความเสียหายจากการรับบริการ เน้นจุดยืนเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มุ่งเอาผิดแพทย์/พยาบาล แต่หวังยกระดับพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดีขึ้น ล่าสุดเตรียมจัดเวทีคืนข้อมูลและนำเสนอ อคม. ช่วยกันแก้ปัญหากรณีคลอดเสียชีวิต หลังพบเคสร้องเรียนบ่อยครั้ง


นางอาภรณ์ อะทาโส หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา50(5) จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงการทำงานว่า หน่วยหน่วย 50(5) จ.ร้อยเอ็ด มีเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนทั้งในระดับอำเภอและตำบล รวมทั้งทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทุกอำเภอใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีแกนนำในการทำงานให้ข้อมูล การคุ้มครองสิทธิและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งหากประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการก็สามารถแจ้งที่เครือข่ายของหน่วย 50(5) หรือที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาลก็ได้

นางอาภรณ์ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด มีเรื่องร้องเรียนความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการที่เข้าข่ายสามารถขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 อยู่หลายครั้ง ส่วนมากจะเป็นกรณีการคลอดเสียชีวิต และบางกรณีก็เกิดความผิดพลาด เช่น ลืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ในคอของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ หน่วย 50(5) จะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทก่อนถึงขั้นฟ้องร้องหรือเป็นข่าวใหญ่โต โดยยืนอยู่บนหลักการที่ว่าไม่ได้มุ่งเอาผิดกับแพทย์หรือพยาบาล แต่ต้องการยกระดับพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดีขึ้น

9

นางอาภรณ์ ยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยรายหนึ่ง โรงพยาบาลลืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ในคอคนไข้ ผู้ป่วยทานข้าวไม่ได้และมีอาการไอออกมาเป็นเลือด ญาติของผู้ป่วยร้องเรียนไปที่สื่อมวลชนส่วนกลาง และเมื่อหน่วย 50(5) ทราบเรื่องก็ได้ติดต่อลงพื้นที่ไปหาครอบครัวผู้ป่วยทันทีเพื่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดต่างๆ จากนั้นประสานแจ้งไปยังโรงพยาบาลว่ามีเคสเกิดขึ้น รวมทั้งช่วยดำเนินการส่งเรื่องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ด้วย

“เราคุยกับโรงพยาบาลว่าคุณทำอะไรหรือยัง ออกไปเยี่ยมขอโทษหรือยัง แล้วเคสนี้เราขอจัดเวทีไกล่เกลี่ยให้ เพราะถ้าไม่มีการพูดคุยกัน เรื่องก็ไม่จบ อาจมีการออกข่าวหรือฟ้องร้องเป็นคดี ในการไกล่เกลี่ยเราก็วางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถึงเวลาก็มาเจรจากัน ตอนแรกผู้เสียหายต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย 3 แสนบาท แต่ก็เจรจาจนลดลงมาเหลือ 1 แสนบาท แต่ทางโรงพยาบาลก็เสนอว่าถ้าคณะกรรมการมาตรา 41 พิจารณาจ่ายชดเชยเท่าไหร่ ทางโรงพยาบาลก็จะจ่ายชดเชยเพิ่มเท่านั้น ปรากฎว่ามาตรา 41 พิจารณาจ่ายเยียวยาให้ 6 หมื่นบาท โรงพยาบาลก็เลยจ่ายชดเชยให้อีก 6 หมื่นบาท ตอนแรกผู้เสียหายก็ไม่ยอม แต่เราก็เจรจาอ้อนวอนให้ยุติข้อพิพาทเพราะไม่อยากให้มีเรื่องเกิดขึ้น และขอกับโรงพยาบาลให้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ต่อเนื่อง สุดท้ายก็สามารถยุติข้อพิพาทกันได้”นางอาภรณ์ กล่าว

8

นางอาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากรณีร้องเรียนความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ส่วนมากจะเป็นกรณีคลอดเสียชีวิตซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะพอสมควร เพื่อแก้ปัญหาในเชิงระบบ ทางหน่วย 50(5) จ.ร้อยเอ็ด เตรียมจัดเวทีคืนข้อมูลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาและหาแนวทางป้องกัน รวมทั้งเตรียมนำเสนอปัญหาให้คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) รับทราบเพื่อหาแนวทางป้องกันในอนาคตต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw