ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปี 2566 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ให้คนไทยผู้มีสิทธิกว่า 46 ล้านคน ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้มุ่งยกระดับการให้บริการที่สามารถ ‘เข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น’ ตลอดจน ‘ลดความแออัด’ ให้กับโรงพยาบาล ผ่านการใช้ นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่

สืบเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สปสช. พบว่าการเพิ่มความครอบคลุมการรักษาให้ได้ทุกโรคนั้น ไม่เพียงพอทำให้ประชาชนพ้นจากความเจ็บป่วยได้ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยัง ‘เข้าไม่ถึง’ บริการ ด้วยสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งจากปัญหาการเดินทางไปรับบริการสำหรับผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล คิวการรับบริการ และความแออัดในโรงพยาบาล

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของ สปสช. “The Coverage” พูดคุยกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่หมายมั่นปั้นมือว่า นอกจากเป้าหมายทำให้บัตรทอง ‘รักษาได้ทุกโรค’ แล้ว ยังจำเป็นต้องทำให้บัตรทองไปถึงคำว่า ‘ถ้วนหน้า’ อย่างแท้จริงด้วย

1

4

เปลี่ยนวิธีรับบริการใหม่ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นพ.จเด็จ อธิบายว่า “นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” เป็นชื่อเรียกในทางวิชาการ แต่จริงๆ แล้วความหมายก็คือ การปรับเปลี่ยน “วิธีการให้บริการ” ใน ‘รูปแบบใหม่’ ที่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น โดยใช้สิ่งที่ สปสช. ทำในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ในที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

ตัวอย่างเช่น แพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเจอตัวกันจริงๆ แต่ใช้การโทรศัพท์ที่มองเห็นหน้าผู้ป่วยเพื่อสอบถามอาการและวินิจฉัยโรคแทน หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) ส่วนยาก็ใช้การส่งทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้านผู้ป่วยเพื่อลดการสัมผัส

“หลักคิดของนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เราใช้พฤติกรรมหรือความสะดวกของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง และหาวิถีทางสนับสนุนบริการเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุดที่สุด ต่างจากในอดีตที่โรงพยาบาลจะเป็นตัวตั้งบริการ ที่ทุกอย่างจะกำหนดตามกรอบเวลาและระเบียนต่างๆ ของโรงพยาบาล” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

2

ฉะนั้น สปสช. ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณให้กับสถานพยาบาลเพื่อบริการประชาชน จึงต้องสนับสนุนนวัตกรรมบริการด้วย โดยปรับเปลี่ยนกลไกทางการเงินเพื่อผลักดันให้เป้าหมายที่ตั้งไว้จับต้องได้

“วันนี้เวลาพูดว่า บัตรทองรักษาทุกโรค แทบไม่มีใครสงสัยแล้วว่า ยังมีโรคใดที่บัตรทองรักษาไม่ได้บ้าง แม้แต่โรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ก็ครอบคลุมแล้ว หรือวันข้างหน้าหากมีโรคใหม่ขึ้นมาอีก เราก็จะทำให้ครอบคลุมด้วย แต่ปัจจุบันคำว่ารักษาทุกโรคไม่เพียงพอต่อระบบบัตรทองแล้ว เพราะการรักษาโรคจำเป็นต้องไปด้วยกันกับการเข้าถึง” นพ.จเด็จ ระบุ

นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ มีอะไรบ้าง

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ประกอบด้วย 1. ร้านยา ที่สามารถให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ เช่น บริการจ่ายยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย คัดกรองปัจจัยเสี่ยงสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นต้น 2. คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 3. บริการพบแพทย์ทางไกลเพื่อติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Telehealth Follow Up) 4. คลินิกกายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูบำบัดอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาล

3

5. จุดเจาะเลือดและตรวจแล็บนอกหน่วยบริการ (Lab) เพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 6. บริการผู้ป่วยในที่บ้าน (Home ward) หรือการยกโรงพยาบาลไปไว้ที่บ้าน โดยจะให้การรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) แต่ทำในที่พักอาศัยของผู้ป่วย นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการสำรองเตียงของโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นได้ด้วย

นพ.จเด็จ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2566 สปสช.ได้เพิ่มมาใหม่อีก 5 รายการ ได้แก่ 1.บริการสายด่วน “เลิกบุหรี่ 1600” เพื่อให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ และบริการสายด่วน “สุขภาพจิต 1323” เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต 2.บริการระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพในโทรศัพท์ สำหรับรักษา 42 กลุ่มโรค/อาการโดยแพทย์ 3.บริการรับยาที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน สำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ 4.บริการตรวจแลบที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ใกล้บ้าน (Lab Anywhere) บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ ทั้งกรณีมารับบริการที่คลินิกและที่บ้าน พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์แบบเบ็ดเสร็จ ครอบคลุมบริการ 24 รายการ ขณะนี้มีคลินิกเทคนิคการแพทย์สมัครเข้าร่วมแล้ว 17 แห่ง และประสงค์สมัครเข้าร่วมเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง 5.บริการแจกถุงยางอนามัย นอกจากไปรับที่หน่วยบริการที่เข้าร่วม เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาล รวมไปจนถึงร้านยาแล้ว ยังสามารถรับผ่านตู้กดถุงยางอนามัยอัตโนมัติ เพื่อการวางแผนครอบครัวและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเริ่มติดตั้งให้บริการที่ พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และกำลังเตรียมขยายไปสู่มหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า

1

2

“เรากำลังดูว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรอีกบ้างที่สามารถให้ประชาชนไปรับที่ตู้กดได้อีก เช่น สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ถ้าหาไม่ได้ก็สามารถไปกดชุดตรวจมาตรวจได้เลย หรืออย่างมะเร็งปากมดลูกเดี๋ยวนี้ก็มีการทำแบบชุดตรวจด้วยตัวเองแล้ว รวมถึงการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะกระจายอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. ระบุ

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช. อยู่ระหว่างพิจารณาให้คลินิกเอกชนที่บริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) กว่า 100 แห่ง มาร่วมให้บริการกับผู้มีสิทธิบัตรทอง เพื่อลดคิวรอคอยบริการในโรงพยาบาล และเข้าสู่การรักษาโดยเร็ว รวมถึงการเพิ่มเติมนวัตกรรมบริการ ที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง อย่างการตรวจทดสอบโรค (Self-test) เพราะเชื่อว่าอนาคตทิศทางบริการสุขภาพปฐมภูมิจะดำเนินไปในทิศทางที่ประชาชนดูแลตัวเองมากขึ้น

4

บริการเพิ่ม แต่ใช้เงินน้อยกว่าเดิม

เลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในปัจจุบัน และที่กำลังเพิ่มเข้าสู่ระบบ แม้ว่ามีค่อนข้างมาก แต่กลับไม่ส่งผลกระทบกับการบริหารงบกว่า 2 แสนล้านของ สปสช. เลย ซึ่งจากความเชื่อในอดีต คือเวลาเพิ่มบริการอะไร จะนำมาซึ่งการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ ทั้งยังอาจลดลงด้วยซ้ำ เช่น โควิด-19 เป็นตัวอย่าง เดิมผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 15 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 3 หมื่นบาทต่อคน ต่อมาปรับเป็นบริการแยกกักตัวที่บ้าน ค่าใช้จ่ายลดมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท ล่าสุดโครงการเจอ แจก จบ ที่ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเหลือเพียง 250 บาท เห็นเลยว่างบที่ใช้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ประชาชนได้รับการรักษาเหมือนเดิม

มากไปกว่านั้นด้วยกลไกบริหารของ สปสช.ที่มีหลายรูปแบบ เช่น การเจราจาต่อรองด้วยจำนวนบริการปริมาณมาก ยังทำให้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามา มีราคาที่เหมาะสมด้วย อย่างการใช้จีโนมิกส์ในการตรวจยีน (Gene) มะเร็งเต้านม ถ้าทำ 5-10 คนราคาจะสูงมาก แต่ สปสช. เสนอกับผู้ที่จะให้บริการว่าต้องการจะตรวจให้กับคน 6 หมื่นคน ทำให้ราคาลดลงอย่างมาก

“วันนี้เวลามีใครมาบอกเราว่าค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น เพราะเพิ่มบริการ เราขออนุญาตคิดต่าง ในเมื่อถ้าเราบริการจัดการดีๆ ค่าใช้จ่ายอาจจะเท่าเดิม ต่ำกว่า หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ หรือได้รับการรักษาที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุดประชาชนจะเสียค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ ลดลงแน่นอน จากการเพิ่มนวัตกรรมบริการ” นพ.จเด็จ ทิ้งท้าย

2