ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่พักอาศัย หรือ ‘ตัว’ อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

เพราะนับจากนี้ หากมีอาการป่วยใน 42 กลุ่มโรค (ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ซับซ้อน) สามารถ พบแพทย์ออนไลน์ได้เลย ที่สำคัญก็คือ ฟรี

หนำซ้ำยังมีระบบส่งยาถึงบ้าน หรือให้ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านด้วย

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ‘รัชดา ธนาดิเรก’ แถลงข่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลโดย สปสช. ได้เปิดบริการ ‘ทางเลือก’ ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ป่วยด้วยโรคทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน 42 กลุ่มอาการโรค สามารถพบแพทย์เพื่อรักษาทางไกล (telemedicine) ผ่านทางแอปพลิเคชัน Clicknic โดยคลิกนิกเฮลท์ คลินิกเวชกรรม ได้

สำหรับขั้นตอนการรับบริการ
1. ดาวน์โหลดแอปฯ Clicknic มาติดตั้งในมือถือ
2. เมื่อเข้าไปในแอปฯ แล้วจะมีแบนเนอร์ “ผู้ป่วยกลุ่มโรคทั่วไป (สปสช.)”
3. คลิกเข้าไปจะมีช่องบันทึกข้อความสำหรับระบุที่อยู่และสถานที่จัดส่งยา พร้อมระบุอาการ รวมทั้งระบุข้อมูลสุขภาพ เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก และยังสามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสัญญาณสุขภาพผ่านกล้องมือถือ เพื่อให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการรักษาได้ด้วย
4. เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดเสร็จแล้วให้กด “เริ่มขอคำปรึกษา”
5. รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิและส่งเคสให้แพทย์ทำการติดต่อกลับ ใช้เวลารอ 10-30 นาที
6. พบแพทย์ และหากมีการสั่งจ่ายยา ก็จะส่งไปให้ที่บ้านหรือผู้ป่วยไปรับที่ร้านยาใกล้บ้านก็ได้ หรือหากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ไลน์ไอดี @Clicknic

ไม่เพียงเท่านี้ “The Coverage” ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิด

ปัจจุบันการให้บริการพบแพทย์ออนไลน์สำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทองนั้น เป็นไปตามที่ ‘รองโฆษกรัชดา’ แถลงข่าว คือใช้ผ่าน แอปพลิเคชัน Clicknic

อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้ จะมีช่องทางการให้บริการเพิ่มอีกถึง 2 แอปพลิเคชัน ซึ่งขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ได้แก่ 1. Mordee (หมอดี) 2. Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็มดี)

หากรวมกับ Clicknic (คลิกนิก) ด้วย ในอนาคตก็จะเป็น 3 แอปพลิเคชัน หรือ 3 ช่องทางเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ขอย้ำอีกครั้งว่าผู้ที่จะใช้สิทธิพบแพทย์ออนไลน์ได้นั้น
1.ต้องมีสิทธิบัตรทอง
2.ตัวต้องอยู่ กทม. (เพราะ สปสช. มีระบบให้รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน /จัดส่งยาถึงบ้าน)

1

สำหรับ 42 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1. ข้อเสื่อมหลายข้อ 2. ตาแดงจากไวรัส 3. ตาแดงจากไวรัส ที่มิได้มีรหัสระบุรายละเอียด 4. ข้อเสื่อมโดยทั่วไปปฐมภูมิ 5. เนื้อเยื่ออักเสบ 6. วิงเวียน มึน 7. ปวดศีรษะ 8. อาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียอื่น 9. อาการท้องร่วง 10. กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ 11. ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 12. ความผิดปกติของระบบการทรงตัวของหู 13. โรคตากุ้งยิงและตุ่มอักเสบเรื้อรังที่หนังตา

14. การอักเสบของเยื่อบุตา 15. การติดเชื้อไวรัสที่มิได้ระบุรายละเอียด 16. กล้ามเนื้อเคล็ด 17. ติดเชื้อไวรัสไม่ระบุตำแหน่งที่เป็น 18. ข้ออักเสบข้อเดียวที่มิได้มีระบุรายละเอียด 19. เยื่อบุจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (หวัดธรรมดา) 20. ไข้ไม่ระบุชนิด 21. เวียนศีรษะบ้านหมุนเฉียบพลันแบบไม่รุนแรง 22. ปวดท้องช่วงบน 23. การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลันหลายแห่งพร้อมกัน

24. ลมพิษ 25. ปวดท้องและปวดอุ้งเชิงกราน 26. เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลันที่มิได้ระบุรายละเอียด 27. ลมพิษที่มิได้ระบุรายละเอียด 28. ปวดหลังส่วนล่าง 29. คออักเสบเฉียบพลัน 30. ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน 31. คออักเสบเฉียบพลันที่มิได้ระบุรายละเอียด 32. การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลัน 33. กระเพาะอาหารอักเสบที่มิได้ระบุรายละเอียด

34. อาการปวดท้องอื่นๆ และอาการปวดท้องที่ไม่ระบุ 35. ข้ออักเสบหลายข้อที่มิได้ระบุรายละเอียด 36. ต่อมทอลซิลอักเสบ เฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด 37. เยื่อจมูก อักเสบจากการแพ้ ที่มิได้ระบุรายละเอียด ปวดกล้ามเนื้อ 38. เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้หรือการเปลี่ยนอากาศ 39. ข้ออักเสบ แบบอื่น 40. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 41. ไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่มิได้ระบุรายละเอียด และ 42. การติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. พิมพ์ @nhso สอบถามข้อมูล

ทั้งหมดนี้คือโฉมใหม่ของการให้สิทธิประโยชน์จาก สปสช. ที่มุ่งหวังใช้กลไกทางการเงินสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเสมอหน้า