ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ เทศบาลเมืองลาดสวาย .ปทุมธานี รับถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาบริหารจัดการเอง ทำให้ทีมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งนี้ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนกว่า 7 หมื่นชีวิต 

ที่น่าสนใจก็คือ ผลลัพธ์ของการถ่ายโอนภารกิจมายัง อปท. นั้น จับต้องรูปธรรมได้แล้วด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่น คือ นายวินัย สังวาลย์เงิน นายกเทศมนตรีเมืองลาดสวาย ประกอบกับการมี "กระสุน" คือ งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กปท. ซึ่งเคยค้างท่ออยู่ราว 9 ล้านบาท ได้ถูกนำมาออกแบบเป็นโครงการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชน 

การที่จะทราบถึงระดับสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายว่าดีแค่ไหน และใครบ้างที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่เรื่องยาก โดยที่นี่เลือกที่จะตรวจสุขภาพคนทั้งสองกลุ่ม เพื่อกำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีความยั่งยืน และแข็งแรงอย่างถ้วนทั่วกัน

การตรวจสุขภาพสำหรับเทศบาลเมืองลาดสวาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ดำเนินการกันอย่างจริงจัง และทำให้พบว่า ประชากรกว่า 7 หมื่นคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุมากถึง 9,907 คน และมีผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลทางสุขภาพอยู่ประมาณ 3,000 คน โดยส่วนใหญ่จะมาทราบว่าเจ็บป่วยแล้วก็เมื่อมีอาการที่รุนแรง 

ขณะเดียวกัน การตรวจสุขภาพยังทำให้เจออีกว่า กลุ่มพนักงานเก็บขยะ กวาดขยะ ดูดโคลน สิ่งปฏิกูล หรือแม้แต่อาชีพที่ต้องฉีดน้ำยาพ่นเชื้อ จะเป็นกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงที่สุดต่อการสัมผัสสิ่งปนเปื้อน สารเคมี เลยเถิดไปถึงการพบ สารตะกั่ว ปรอท และสารโลหะหนักอื่นๆ ในร่างกาย มันจึงเห็นปลายทางของประชาชนที่เข้ามารับบริการในหน่วยบริการ

เมื่อเป็นแบบนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย และผู้ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เป็นการดูแลสุขภาพให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและยังเฝ้าระวังไม่ให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ช่วยลดการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ หรือแม้จะตรวจพบโรค ถ้าพบระยะเริ่มต้น การรักษาจะง่ายและหายได้เร็วกว่า

กระนั้นก็ตาม การตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยง ที่มีจำนวนไม่น้อยเลย เทศบาลเมืองลาดสวายจึงจำเป็นต้องมี "ผู้ช่วย" ที่เชี่ยวชาญ และมีความรู้อย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ พวกเขาได้ทีมสหวิชาชีพ จาก คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และตรวจสุขภาพอย่างครอบคลุม เข้ามาเช็กอัพประชากรกลุ่มเป้าหมายร่วมกับทีมพยาบาลวิชาชีพ จากเทศบาลเมืองลาดสวาย

สำหรับใครที่เสี่ยง ก็จะได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ หรือใครที่ต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพก็จะได้รับคำตอบ แต่หากไปเช็กอัพแล้วเจอความผิดปกติ ก็จะถูกไปรักษาต่อตามสิทธิการรักษา และข้อมูลสุขภาพของประชาชนก็จะถูกจัดเก็บเอาไว้ในหน่วยบริการสุขภาพของเทศบาลเมืองลาดสวาย

จีระนันท์ ปิติฤกษ์ พยาบาลวิชาชีพเทศบาลเมืองลาดสวาย ซึ่งดูแล กปท. เทศบาลเมืองลาดสวายอยู่ บอกว่า กปท.คือกลไกสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่เงินงบประมาณเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วม ทั้งการวางแผนกำหนดทิศทางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพของประชาชนทุกชุมชน

"เพราะกปท. ทำให้เราได้มีเครือข่ายสุขภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่มีทั้งแกนนำสุขภาพชุมชน รพ.สต. อสม. และโรงเรียนต่างๆ เข้ามาเป็นเครือข่ายสุขภาพในรูปแบบคณะกรรมการ กปท. ทั้งหมดเข้ามาร่วมทำงานกับท้องถิ่น ทั้งร่วมค้นหา ร่วมเรียนรู้ และร่วมกำหนดทิศทางสุขภาพ ซึ่งเครือข่ายสุขภาพนี้เอง ที่ทำให้เกิดการกระตือรือร้นให้คนในชุมชน หันมาสนใจ และอยากจะทำให้สุขภาพดีมากขึ้น" นางจีระนันท์ ระบุ

ต่อประเด็นการจัดบริการสุขภาพของประชาชนในจังหวัดปริมณฑล โดยเฉพาะกับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือประชาชนสิทธิบัตรทอง นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี (สปสช.เขต 4 สระบุรี) ให้ภาพกับประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า เดิมทีการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในกลุ่มจังหวัดปริมณฑล ที่มีความหนาแน่นของประชากร และขาดการบริการปฐมภูมิเพราะประชาชนเข้าถึงไม่สะดวก ทั้งการเดินทาง หรือปัญหาอุปสรรคในการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพ

แต่สำหรับเทศบาลเมืองลาดสวาย ที่อยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งมีประชากรที่หนาแน่นเช่นกัน เลือกใช้วิธีการหาเครือข่าย และเจาะเข้าไปถึงประชาชนแบบเชิงรุก ทำให้ไปเจอกับปัญหา และสามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพมีความชัดเจนขึ้น

"เทศบาลลาดสวาย จะผนึกการทำงานกับทุกเครือข่ายที่มีเลย ทั้งหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐ ภาคเอกชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และ สปสช. เขต 4 ในการสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนร่วมกัน เพราะเขามองว่าเรื่องสุขภาพมันเกี่ยวกับทุกคน และทำให้บทบาทของท้องถิ่นในการจัดบริการสุขภาพมีความชัดเจนมากขึ้น และตรงกับเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการให้ท้องถิ่นเข้ามาจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ผ่านการถ่ายโอนรพ.สต.เพราะท้องถิ่นคือหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด" นพ.สาธิต ย้ำ