ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพื่อ ‘ความเข้าใจ’ ในระดับที่เข้าไปอยู่ในหัวใจจริงๆ เราเต็มใจที่จะอธิบายเรื่องนี้กันอีกรอบ

เพราะขณะนี้ พบคำว่า ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน’ และคำว่า ‘UCEP’ ปรากฏอยู่ในหลากหลายวาระ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันออกไป และแน่นอน สร้างความสับสนอยู่ไม่น้อย

เริ่มจากอันแรก - เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตชีวิต (UCEP)

เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตชีวิต (ขีดเส้นใต้ 10 เส้นที่คำว่า ‘วิกฤตชีวิต’) โดยผู้ที่จะเข้าเกณฑ์ใช้สิทธินี้จะต้องมีอาการป่วยในกลุ่มอาการสีแดงเท่านั้น ซี่งสามารถเข้ารักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน เมื่อพ้นช่วงวิกฤตชีวิต 72 ชั่วโมง ก็จะส่งต่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิ

ไม่ว่าคุณจะมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพกองทุนใดก็ตาม (บัตรทอง, ประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ) หากเข้าเงื่อนไขกลุ่มอาการสีแดงสามารถใช้สิทธิได้ เพียงแค่มีบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องสำรองจ่าย

ถัดมา - ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน (ไม่มีคำว่าวิกฤตชีวิตต่อท้าย)

เมื่อได้ยินคำว่า ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน’ ธรรมดาๆ ไม่มีการพูดถึง ‘ระดับวิกฤต หรือวิกฤตชีวิต’ นั่นไม่ใช่สิทธิ UCEP แต่เป็นสิทธิการรักษาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น โดยจะครอบคลุมกลุ่มอาการ ‘สีเหลือง’

ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ไม่วิกฤต) แนะนำให้เข้ารับบริการได้ที่ โรงพยาบาลรัฐ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวเช่นกัน

สุดท้าย – UCEP Plus (ในสถานการณ์วิกฤตโควิด 19) ซึ่งเกิดขึ้นในยุคโควิด 19 อธิบายง่ายๆ ก็คือ ช่วงวิกฤตโควิดระบาด มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่สำคัญคือหากเชื้อลงปอดมีโอกาสเสียชีวิตสูง จึงมีการประกาศแนวทางการรักษา UCEP Plus ขึ้นมาเป็นสิทธิประโยชน์ให้คนไทยทุกคน

UCEP Plus คือระบบที่รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผู้ป่วยสีเขียวจะรักษาอย่างไร ผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง จะเข้าโรงพยาบาลที่ไหนได้บ้าง และมีรายการยาอะไรบ้างที่ใช้ได้ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลงแล้ว จึงมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 กำหนดเฉพาะผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤตสีแดงเท่านั้น เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะที่ทำให้อาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง ไม่สามารถหายใจได้ มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่นๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยเร็ว สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ทุกวันนี้ให้ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของตนเอง

1

รายการยารักษาโควิดใน UCEP Plus

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบ ‘หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19)” หรือ หลักเกณฑ์ UCEP Plus (ฉบับที่3)

สาระสำคัญ คือการเพิ่มรายการยาต้านไวรัส Molnupiravir 200 mg เข้าไปในสิทธิประโยชน์ อีก 1 รายการ โดยและให้เบิกจ่ายได้ในอัตราเม็ดละ 15 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติเป็นต้นไป

หลังการเพิ่มรายการยาข้างต้นแล้ว จะทำให้รายการยาต้านไวรัสโควิด 19 ในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP Plus มี 2 รายการ ได้แก่

  1. 1. Favipiravia 200 mg ราคา 14.50 บาทต่อหน่วย (รายการเดิม)
  2. 2.Molnupiravir 200 mg ราคา 15 บาทต่อหน่วย (เพิ่มเติมใหม่จากมติ ครม.)

ส่วนกรณียาต้านไวรัส 3 รายการ ได้แก่ Remdesivir, Nirmatrelvir/Ritonavir และ Tixagevimab/Cilgavimab (Long-acting Antibody) ให้เบิกยาหรืออัตราค่าใช้จ่ายจากกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กองทนุของผู้มีสิทธิแต่ละกองทุนกำหนดแล้วแต่กรณี