ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์จำนวนมากเพื่อให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มีตั้งแต่บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เช่น การรณรงค์ฉีดวัคซีนตามกลุ่มอายุ บริการฝากครรภ์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฯลฯ ไปจนถึงสิทธิประโยชน์การรักษา เช่น การเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย บริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เป็นต้น

1

1

อย่างไรก็ดี ขึ้นปี 2566 นี้ นอกจาก สปสช. จะยังคงมุ่งพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้มีความครอบคลุมแล้ว ยังได้พยายามเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้มากขึ้นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์จำนวนมาก แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงบริการ

“อันหนึ่งที่เรามีปัญหามาตลอดก็คือเวลาเราเพิ่มสิทธิประโยชน์ แต่พบว่าประชาชนไม่ใช้บริการ เพราะว่าช่องทางการให้บริการอาจจะไม่สะดวกหรือไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของเขา ทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เราเพิ่มขึ้นประชาชนกลับไม่ได้รับอย่างที่เราต้องการ” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เผย

1

2

ดังนั้น สปสช. จึงมีแผนในการเพิ่มบทบาทของบริการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งจะทำให้ผู้รับบริการและผู้ให้บริการมีช่องทางในการสื่อสารกันสะดวกมากยิ่งขึ้น และหากจำเป็นต้องได้รับยา ทางโรงพยาบาลจะมีการส่งยาไปให้ผู้ป่วยถึงที่บ้าน ทำให้ช่วยลดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วย ตลอดจนลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งเริ่มมีการนำเทเลเมดิซีนมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เช่น รพ.สต.แม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นอาทิ

มากไปกว่านั้น ยังได้ขยายบริการพบแพทย์ทางไกลไปในกรณีผู้ป่วยนอก (OP Telemedicine) และส่งยาถึงที่บ้านภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับบริการด้วย โดยครอบคลุม 42 กลุ่มโรคและอาการ ซึ่งได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัลจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ที่เริ่มดำเนินการแล้ว ขณะที่อีก 2 แห่ง คือ แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) และแอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) อยู่ระหว่างเตรียมการ

3

2

จากช่วงสถานการณ์โควิด จะเห็นว่า พี่น้องประชาชน เริ่มมีความคุ้นเคย แล้วก็สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเทคโนโลยีด้านการแพทย์โดยตรงนะครับ แต่ว่าสามารถเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องของบริการได้ นพ.จเด็จ กล่าว

อีกทั้งจะขยายบริการที่เรียกว่า Home Ward ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยทีมแพทย์ประจำบ้านและทีมสหวิชาชีพ เบื้องต้นจะมี 7 กลุ่มโรคตามที่กรมการแพทย์กำหนด ประกอบด้วย 1. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 2. โรคโควิด-19 ในกลุ่ม 608 ที่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ 3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบที่มีข้อกำหนดว่าต้องฉีดยาฆ่าเชื้อวันละ 1 ครั้ง 4. ผู้ป่วยระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ไม่มีภาวะอันตราย และไม่มีอาการอื่น 5. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่มีภาวะอันตราย 6. บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) และ 7. ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ

1

3

รวมไปถึงจะมีการเพิ่มร้านยาเข้ามาในโครงการสิทธิบัตรทองเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ รับยาที่ร้านยาให้ได้ 1,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 600 แห่งแล้ว อีกทั้งจะให้ร้านยาเป็นอีกหนึ่งช่องทางในให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การรับยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ตลอดจนชุดตรวจคัดกรองโรคต่างๆ (Self-Test)

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2566 นี้ เป็นช่วงรอยต่อสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไทย (20% ของประชากรทั้งหมด) โดยจากข้อมูลของ กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ในปี 2565 ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 12,519,926 ล้านคน หรือ 18.94% ของประชากรทั้งหมด ฉะนั้น สปสช. ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อรองรับจำนวนมาก เช่น บริการตัดแว่นสายตา บริการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับ สำหรับผู้ที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง บริการใส่รากฟันเทียม ฯลฯ

2

“บริการด้านทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุเป็นหนึ่งส่วนที่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วสิ่งนี้คือปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง เนื่องจากหากฟันไม่ดีอาจทำให้การบดเคี้ยวอาหารลำบาก และได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน กระบวนการทำงานต่างๆ ในร่างกายก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ หากเป็นโรคอื่นร่วมด้วยก็อาจมีส่วนทำให้อาการแย่ลงได้” เลขาธิการ สปชส. อธิบาย

และสุดท้าย หากประชาชนเป็นโรคใดโรคหนึ่ง สิ่งที่สำคัญมากก็คือการรักษาอย่างทันท่วงที ฉะนั้นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจึงเป็นอีกส่วนที่ สปสช. ได้พยายามขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การคัดกรองภาวะการได้ยินในทารกแรกเกิด บริการตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBe Ag) ในหญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ ซึ่งบางบริการยังสามารถจองรับบริการผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้อีกด้วย

4

4

นอกจากจะเป็นบริการสำหรับตัวบุคคลแล้ว สปสช. ยังได้ทำงานร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งเป็นงบประมาณจากการสมทบร่วม 2 ฝ่าย คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ สปสช. ในการให้บริการด้วย เช่น การคัดกรองไขมันในเส้นเลือดสำหรับคนไทยที่มี่อายุ 35 ปีขึ้นไป การคัดกรองเบาหวาน

“การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ควรจะเน้นในการทำงานเชิงรุก เพราะว่าบางครั้งพี่น้องประชาชนยังไม่มีอาการอะไร แต่ว่าหากได้รับการคัดกรองก่อนก็จะเข้าถึงการรักษาได้เร็ว ดังนั้น อปท. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนก็จะเป็นอีกกลไกสำคัญที่ร่วมกับเรา ซึ่งในปีนี้เบื้องต้นเราก็จะมีโครงการชะลอไตเสื่อมเพิ่มเข้ามาด้วย” นพ.จเด็จ กล่าว

3

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า แม้บริการต่างๆ ในสิทธิบัตรทองที่จะเพิ่มเข้ามา จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากความเจ็บป่วยได้ แต่แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแลสุขภาพของตนเอง และคนใกล้ชิดไม่ให้เกิดความมเจ็บป่วยนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

2