ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. แจง ‘ค่าเสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้’ และ ‘ค่าเสี่ยงภัยโควิด-19’ อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนการจ้าง พกส.ด้วยเงินงบประมาณและจ้างงานถึงอายุ 60 ปี ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ที่ประชุมคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ซึ่งมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้หารือร่วมกันภายหลังสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ตัวแทน พกส. ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน ได้มายื่นหนังสือขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลสวัสดิการ 6 ข้อ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า สธ. มีนโยบายให้ความสำคัญในการดูแลขวัญและกำลังใจของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคน โดยเรื่องใดที่ดำเนินการได้ให้เร่งดำเนินการและต้องดูแลทุกวิชาชีพอย่างเป็นธรรม ซึ่งจากการหารือร่วมกัน ที่ประชุมได้มีมติต่อข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ ดังนี้

2

1

1. การขอให้ พกส. สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง และ 2. การให้ยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น 4 ปี และปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี โดยทั้ง 2 เรื่อง เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและ “เกินอำนาจ” การบริหารจัดการของ สธ.จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. การขอให้ยกเลิกการจ้างลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และปรับเป็น พกส. ทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งกรณีนี้ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกได้ทันที แต่จะทยอยลดการจ้างงานและผลักดันให้เข้าสู่ระบบการจ้างเป็น พกส. ต่อไป

4. การขอให้ พกส.และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ ได้หารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อผลักดันค่าตอบแทนพิเศษ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ปริญญาตรี ค่าตอบแทน 1,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรี 500 บาท โดยจ่ายจากเงินบำรุง ซึ่งจะได้รับทั้งข้าราชการและลูกจ้าง

4

5. การขอให้ พกส.และลูกจ้างทุกประเภท ได้รับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด 19 ได้ดำเนินการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุนทั้งหมด ซึ่งเรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณ เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

6. การขอปรับค่าทำงานนอกเวลา (OT) ของ พกส.และลูกจ้างชั่วคราว ให้ยึดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2566 โดยการเพิ่มอัตราค่าตอบแทนที่มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นอำนาจของแต่ละจังหวัด/เขต ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะเงินบำรุงของโรงพยาบาล ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน ได้ขอให้ทางสมาพันธ์ฯ รวบรวมข้อมูล เพื่อดำเนินการแก้ไขเป็นรายจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทางสมาพันธ์ฯ สำรวจข้อมูลภาระหนี้ของพนักงาน เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้นำมาพิจารณาวางแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งนี้ หากบุคลากรในพื้นที่ใดไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งมายังศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตามระบบ