ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลเสมือนจริง หรือ Virtual Hospital ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม (อบจ.นครพนม) พัฒนาขึ้น คือความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ ‘ท้องถิ่น’ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านการจัดบริการสุขภาพ

การสอดรับกันของนโยบาย ระหว่างการจัดบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิของ อบจ.นครพนม กับ ชุดสิทธิประโยชน์และกลไกทางการเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพนี้ขึ้น

แว่วมาว่า Virtual Hospital แห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลที่ไม่มีตึก ไม่มีอาคาร แต่จะใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นจุดเชื่อมต่อ ซึ่งมีการวางแนวทางเอาไว้ว่า ในอนาคตชาวนครพนมจะสามารถพบแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ว่าแต่โรงพยาบาลเสมือนจริง อบจ.นครพนม คืออะไรกันแน่ ? ผู้ที่จะมาให้คำตอบคือผู้ที่บุกเบิกโครงการนี้มากับมือ นั่นคือ "นายกฯ ขวัญ" - ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม ซึ่งให้เกียรติพูดคุยกับ “The Coverage” อย่างเป็นกันเอง

นายกฯ ขวัญ บอกกับเราว่า นี่จะเป็นการลงทุนด้านสุขภาพครั้งใหญ่ของ จ.นครพนม

1

เธอ อธิบายว่า โรงพยาบาลเสมือนจริง อบจ.นครพนม เป็นการให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิในรูปแบบโรงพยาบาลเสมือนจริง หรือ Virtual Hospital ที่ประชาชนจะสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์และบุคลากรสหวิชาชีพได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบเทคโนโลยีที่จะมีการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันขึ้นเป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมายัง อบจ.นครพนม ก็จะต้องมีแท็ปเล็ตอย่างน้อยแห่งละ 1 เครื่อง สำหรับเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลเสมือนจริงแห่งนี้

ประชาชนลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ และไม่ต้องมานั่งรอที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานตลอดทั้งวันเพื่อพบแพทย์ แต่ว่าสามารถนัดหมายเพื่อพูดคุยกับแพทย์ผ่านโรงพยาบาลเสมือนจริงได้เลยศุภพานี ระบุ

เธอ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า โรงพยาบาลเสมือนจริงนี้จะไม่มีการผ่าตัด หรือรักษาโรคที่มีอาการรุนแรง แต่จะเน้นการให้คำปรึกษาทางสุขภาพ การใช้ยา หรือการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และตอนนี่้เรากำลังนำร่องเริ่มทำ โดยใช้ฐานของ รพ.สต.ที่จะได้รับการถ่ายโอน เป็นกลไกหลักในการให้บริการสุขภาพประชาชน ในรูปแบบโรงพยาบาลเสมือนจริง

สำหรับรูปแบบการให้บริการ คือจะให้ประชาชนที่มีแท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน สามารถสมัครเข้าแอปพลิเคชันที่จะทำขึ้นมา เพื่อลงทะเบียนสุขภาพ และจะมีการบริการต่างๆ ให้ประชาชนให้รับบริการตามต้องการได้

2

แต่ขณะเดียวกัน หากต้องนัดหมายพบแพทย์สำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ก็จะตัดตอนการเดินทางมายังโรงพยาบาลชุมชน ด้วยการให้ผู้ป่วยนัดหมายไปที่ รพ.สต. ซี่งก็จะมีแท็บเล็ตไว้บริการในการพบแพทย์ทางไกล หรือที่เรียกว่า Telemedicine ได้ และจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะสิทธิการได้รับบริการสุขภาพนี้ อยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว

ศุภพานี เล่าอีกว่า รูปแบบการบริการนี้ อบจ.นครพนมอใช้เป็นนโยบายหาเสียง แต่มีการศึกษาอย่างจริงจังมาแล้วร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และพบว่าการแพทย์ทางไกลจะมีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ส่วนการวางระบบแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณจาก อบจ.นครพนม ในการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับ รพ.สต. โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล อบจ.นครพนม ก็พร้อมจะจัดหาให้กับทุก รพ.สต.ได้ใช้งานเพื่อสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่

"โครงการนี้จะมีประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มในนครพนม ยกตัวอย่างวัยรุ่นที่สงสัยกับยาต้านสิว ก็จะคุยกับหมอได้เลย หรือคนทั่วไปที่มีอาการเจ็บป่วยกลางดึก แต่ไม่อยากไปโรงพยาบาล ก็สามารถปรึกษากับแพทย์ได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางพัฒนาต่อไปในอนาคตคือให้ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านโรงพยาบาลเสมือนจริง อบจ.นครพนม ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการเจ็บป่วยไม่ได้เลือกเวลา ถ้าคนนอนไม่หลับดเพราะกังวลกับเรื่องสุขภาพ มันจะดีแค่ไหนหากเราได้คุยกับแพทย์เลยเพื่อคลายกังวลนั้น" นายกอบจ. นครพนม ย้ำในตอนท้าย