ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุน กำลังซ้ำเติม คนจนเมือง ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะ ‘สิทธิทันตกรรม’

อย่างที่ทราบดีว่า “ระบบประกันสังคม” ให้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน น้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือสวัสดิการข้าราชการ ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งแตกต่างกับผู้ใช้บัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ ที่รักษาฟรี-ไม่ต้องจ่ายสมทบใดๆ แต่กลับได้สิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าคนที่ต้องจ่ายเงิน

ความเหลื่อมล้ำในสิทธิทันตกรรม ‘มีต้นสายปลายเหตุ’ เพื่อให้เข้าใจฐานรากของแนวคิด ‘The Coverage’ พูดคุยกับ ทพ.ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทพ.ธีรวัฒน์ อธิบายว่า เดิมในประกาศสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่ได้ระบุไว้ว่าทันตกรรมเป็นสิทธิการรักษาที่ผู้ประกันตนจะได้รับ โดยทาง สปส. ได้มาเพิ่มให้ทีหลัง และกำหนดเพดานค่ารักษาต่อปีไว้ ซึ่งแตกต่างกับอีก 2 ระบบ ที่ให้สิทธิการรักษาสุขภาพช่องปากพื้นฐานตามโรคที่เกิดขึ้นจริงได้มาตั้งแต่แรก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย

ทั้งนี้จากการเจรจา และเรียกร้องให้ สปส. ปรับปรุงสิทธิด้านทันตกรรมให้ผู้ประกันตนมาหลายครั้ง ทำให้เข้าใจว่า สปส. มีทัศนคติที่มองว่าสิทธิด้านทันตกรรมเป็นเพียงของแถมให้กับผู้ประกันตน เห็นได้จากการค่อยๆ เพิ่มอัตราการเบิกจ่ายตั้งแต่ 250 บาท จนมาเป็น 900 บาทในปัจจุบัน แทนที่จะปรับเงื่อนไขให้สามารถรักษาได้แบบระบบอื่นๆ ซึ่งในส่วนนี้ยังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย

พูดกันตรงๆ ก็คือทาง สปส. ไม่ได้มองว่าตัวสิทธิการรักษาด้านทันตกรรมเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับผู้ประกันตน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับระบบหลักประกันสุขภาพของหลายๆ ประเทศที่มีการกำหนดเงื่อนไขการรับริการทันตกรรมไว้อย่างจำกัดกว่าบริการสุขภาพอื่นๆ ทพ.ธีรวัฒน์ ระบุ

ซ้ำเติมคนจนเมือง

มากไปกว่านั้น จากแนวโน้มและข้อมูลทางสถิติหลายส่วนพบว่าผู้ประกันตนที่เป็น “คนจนเมือง” เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดในด้านสุขภาพช่องปาก เพราะทาง สปส. กำหนดเพดานการเบิกจ่ายด้านทันตกรรมไว้ไม่เกินปีละ 900 บาท

เงินจำนวนนี้โดยส่วนใหญ่ทำได้แค่บริการเดียว เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ฉะนั้นถ้าทำหลายซี่ต้องรอรับการรักษาปีต่อไป และระหว่างนั้นก็อาจทำให้ซี่อื่นๆ ที่มีโรค เช่น ฟันผุมีความรุนแรงมากขึ้น หรืออีกทางเลือกก็คือจ่ายเงินเพิ่มเองเพื่อรับการรักษาส่วนที่เหลือ

2

ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า แม้ผู้ประกันตนที่เป็นคนจนเมืองจะสามารถรับบริการที่คลินิกทันตกรรมของเอกชนได้ก็ตาม กระนั้นคลินิกเอกชนอาจไม่ครอบคลุมไปถึงในบางพื้นที่ หรือบางคลินิกเอกชนไม่ได้เป็นคู่สัญญากับทาง สปส. ทำให้ต้องสำรองจ่ายก่อน แล้วจึงไปเบิกคืนที่ สปส.

ตรงนี้ทำให้ผู้ที่ไม่สามารถสำรองจ่ายเองได้เข้าไม่ถึงบริการ ประกอบกับการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเวลาในการทำงานเพื่อไปพบทันตแพทย์ เป็นอุปสรรคใหญ่ในการเข้าถึงบริการของผู้ประกันตนกลุ่มนี้ ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวคิดว่าบริการด้านทันตกรรมพื้นฐานควรเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการรักษาตามความจำเป็นของสุขภาพช่องปาก เพราะถ้าไม่ได้รักษาตั้งแต่ช่วงแรกที่เป็น และปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะด้านโภชนาการ รวมถึงส่งผลถึงคุณภาพชีวิตในระยะยาวด้วย เพราะว่าโรคในช่องปากมีลักษณะเฉพาะคือ หากสะสมจะยิ่งลุกลาม และโรคจะไม่บรรเทาลงจนหายไปเองหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งต่างกับอาการหรือโรคส่วนใหญ่ เช่น ไข้หวัด ฯลฯ

เมื่อมีฟันผุหนึ่งซี่ ถึงจะไม่มีอาการเกิดขึ้น แต่ฟันจะผุต่อไปเรื่อยๆ จนอาจผุทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งทำให้มีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้น และเป็นหนองได้ ในบางตำแหน่งอาจลุกลามจนกลายเป็นการติดเชื้อที่ใบหน้าและขากรรไกร หรือถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้

แม้ในกรณีที่ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาจนต้องถอนไปในที่สุดก็จะกระทบกับการกิน การพูด การเข้าสังคม และหากจะมารักษาภายหลังด้วยการใส่ฟันเทียม คุณภาพชีวิตก็จะลดลง รวมถึงต้นทุนในการดูแลรักษาก็จะแพงขึ้นหลายเท่า สุดท้ายภาระของระบบสุขภาพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับ “ทางออก” ของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทพ.ธีรวัฒน์ เสนอว่า เฉพาะในส่วนของระบบประกันสังคม อย่างแรกคือ สปส. ต้องทำความเข้าใจว่าโรคในช่องปากเป็นโรคทั่วไปที่ผู้ประกันตนควรได้รับการรักษาเป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ต้องได้รับการดูแลตามความจำเป็น จากนั้นค่อยหาวิธีที่จะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้ตามความจำเป็น ซึ่งมีหลายส่วนที่ต้องปรับค่อนข้างเยอะ เช่น รูปแบบการจ่ายเงิน การเลือกสถานพยาบาล ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดในทางหลักการไม่ว่าจะประเทศไทยหรือประเทศใดก็ควรมีระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียวที่ทุกคนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกันมาตรฐานเดียว แต่ในทางปฏิบัติสำหรับกรณีของไทยต้องบอกว่าแต่ละระบบก็มีที่มา ประวัติศาสตร์ และการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกัน การจะมารวมจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ซึ่งสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้และกำลังเป็นแนวทางที่แต่ละระบบกำลังทำกันอยู่ก็คือ การพยายามพัฒนาสิทธิประโยชน์ของตนเองให้ใกล้เคียง หรือเท่าเทียมกับระบบอื่นๆ มากที่สุด