ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิ่งที่กังวลมากที่สุดสำหรับ ‘ผู้สูงอายุ’ คือการ ‘พลัดตกหกล้ม’

เป็นที่รู้กันดีว่ากระดูกของคนสูงอายุเปราะบาง เมื่อพลัดตกหกล้มก็สุ่มเสี่ยงที่จะหัก และอาจร้ายแรงถึงขั้นต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงเลยก็ได้

ความน่ากลัวของการพลัดตกหกล้มอีกประการก็คือ การสร้าง ‘บาดแผลทางจิตใจ’ แก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงผู้อื่น

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ภาพว่า แต่ละปีจะมีผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มปีละ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 6 หมื่นคน แต่ที่น่าตกใจก็คือ แต่ละวันจะมีผู้สูงอายุ ‘เสียชีวิต’ จากการพลัดตกหกล้มถึงวันละ 4 คน

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.น่าน ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเกิดเป็นรูปแบบการจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่เรียกว่า “น่านโมเดล” ป้องกันการพลัดตกหกล้มของสูงวัยเมืองน่านโดยเฉพาะ

ตลอดระยะเวลากว่า 13 เดือนของการดำเนินการ พบว่าโรงพยาบาลไม่มีผู้สูงอายุที่เข้ามารักษาตัวเพราะพลัดตกหกล้มอีกเลย

เรียกได้ว่าตัวเลขกลายเป็น 0

คำถามคือ พวกเขาทำได้อย่างไร ?

 

1

The Coverage กางรายละเอียดดูแผนการปฏิบัติการ “น่านโมเดล” ของโรงพยาบาลน่าน พบสถิติหลายอย่างที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ

ย้อนหลังไปจุดสตาร์ทเกือบ 10 ปี จ.น่าน คือพื้นที่ที่ครองอันดับ 1 ของประเทศ ที่มีผู้สูงอายุหกล้มและต้องเสียชีวิตมากที่สุด และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพโดยรวมของจังหวัด

บุคลากรแพทย์ของโรงพยาบาลน่าน ที่นำโดย นพ.วรพงษ์ สุจริตพงษ์พันธ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตรฐาน โรงพยาบาลน่าน มองว่าปัญหานี้คือเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หากไม่ทำอะไรสักอย่าง ปัญหาจะลุกลาม

จากการได้สำรวจถึงปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม ก็พบว่าในช่วง ‘หน้าหนาว’ จะเกิดมากสุด เพราะเสื้อผ้าที่พะรุงพะรังเต็มตัว ถุงเท้า ถุงมือ ที่ใส่เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ทำให้ผู้สูงอายุต้องหกล้ม และบาดเจ็บ ควบรวมไปกับการเจอว่า สภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เหมาะสม การกินอาหาร การเสริมแคลเซียมแทบไม่มี ซึ่งทำให้ส่งผลต่อความแข็งแรงของมวลกระดูกทั้งสิ้น

ผลสำรวจยังพบปัจจัยที่น่าสนใจ หากผู้สูงอายุหกล้มและต้องผ่าตัดสะโพก ปัญหานี้จะเกิดในหน้าหนาว แต่หากหกล้มที่มีผลต่อข้อกระดูก มักจะเกิดขึ้นในฤดูฝน นั่นเพราะหนาวก็พะรุงพะรังเพราะเสื้อผ้า ฝนก็เสี่ยงลื่นล้มทำให้ข้อต่อกระดูกมีปัญหา ทั้งหมดเกิดจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้สูงอายุเคยพลัดตกหกล้มและเคยได้รับการผ่าตัดไปแล้ว หากมีการล้มซ้ำจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที

โรงพยาบาลน่าน จึงเริ่มน่านโมเดล เฟสแรก ด้วยการเสริมทีมบุคลากรจากหลากหลายสาขา ให้เข้ามาเป็นทีมแก้ปัญหาพลัดตกหกล้ม ส่งทีมโภชนาการ นักวิชาการ นักกายภาพบำบัด แพทย์ พยาบาล ลงพื้นที่ไปหาชาวบ้านกลุ่มเป้าหมาย การทำงานเชิงรุกแบบเคาะถึงประตูบ้าน ผ่านการร่วมมือของผู้นำท้องถิ่น ชุมชน ให้ช่วยเปิดประตูบ้านของประชาชน มารับทราบแนวทางการป้องกันตัวเอง การดูแลตัวเอง และการกินที่จะเสริมสุขภาพของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มให้ได้

จุดเริ่มจาก อ.เมือง ของจังหวัด ที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับคำแนะนำอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินสูงเพื่อดูแลมวลกระดูก และยังรับรู้ถึงโรคกระดูกพรุนพร้อมกับการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้หกล้ม ส่วนทีมกายภาพบำบัดยังแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม

ขณะที่ภายในโรงพยาบาลน่านเอง ก็มาเซ็ทระบบกันใหม่ด้วยการผ่าตัดสำหรับผู้สูงอายุที่หกล้ม จะต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม เอาตัวอย่างให้เห็นภาพ จากระยะเวลาที่ต้องรอผ่าตัดเมื่อปี 2562 อยู่ที่เฉลี่ย 181 ชั่วโมง/ราย แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 63 ชั่วโมง/ราย

2

จากนั้นเมื่อผ่าตัดกันเสร็จแล้ว ก็ต้องมีการไปเยี่ยมบ้าน หาสาเหตุการล้ม และป้องกันการล้มครั้งต่อไป หรือแม้แต่ประสานกับท้องถิ่นเพื่อให้ปรับสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุที่เสี่ยงจะล้มซ้ำ

ผลลัพธ์ของการทำงานเชิงรุก จากจุดเริ่มต้นที่ .น่าน ติดอันดับ 1 ที่ผู้สูงอายุหกล้มมากที่สุด กลายเป็นว่ากว่า 13 เดือนล่าสุดแล้ว ที่เขตเมืองของ .น่าน ไม่มีผู้สูงอายุหกล้มเลย และไม่ต้องพูดถึงการหกล้มซ้ำด้วย เพราะไม่มีตัวเลขนี้ให้รายงาน

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากเขตเมือง แน่นอนว่าก้าวต่อมาคือขยายพื้นที่ให้น่านโมเดล คลุมทุกแอเรียของจังหวัด เพราะผู้สูงอายุไม่ได้มีแค่ในเขตเมือง แต่ต่างอำเภอที่ห่างไกล หมู่บ้านตามแนวเทือกเขาที่ยังมีผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแล ส่งเสริม รักษาสุขภาพอย่างเท่าเทียมด้วยเช่นกัน โมเดลนี้จึงขยายไปสู่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อต่อยอดให้ผู้สูงอายุแต่ละอำเภอได้รับการดูแลเหมือนกัน ผ่านการปรึกษากับทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกระดูกของโรงพยาบาลน่าน ด้วยระบบไลน์

นพ.วรพงษ์ อธิยายถึงระบบน่านโมเดลให้กับ ‘The Coverage’ ฟังว่า หากมองในภาพใหญ่จะเห็นว่ามีการจัดกรุ๊ปปิ้งของผู้สูงอายุอย่างชัดเจน 4 กลุ่ม ตั้งแต่เริ่มจะสูงวัย ไปจนถึงหากต้องดูแลแบบมีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเริ่มจาก

กลุ่มก่อนวัยผู้สูงอายุ หรือ Pre-Aging จะมีการเตรียมความพร้อมสู่ผู้สูงอายุ อบรมให้ความรู้ การเช็กสุขภาพ

กลุ่มผู้สูงอายุสุขภาพดี หรือ Healthy-Elderly จะมีการส่งเสริมและป้องกัน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สมอง ควบคู่ไปกับการคัดกรองหากลุ่มเสี่ยง และติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

กลุ่มผู้สูงอายุเจ็บป่วย หรือ Illness-Elderly จะมีการรักษาโดยมีคลินิกผู้สูงอายุ ที่จะมีแพทย์เชี่ยวชาญแต่ละสาขา พร้อมกับมีการดูแลระยะกลาง

กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ Dependent-Elderly ที่จะมีการดูแลระยะยาวส และการดูแลระยะท้าย

นพ.วรพงษ์ ขยายความอีกว่า สิ่งสำคัญของการป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุที่ จ.น่าน ทำได้เห็นผล คือการติดตาม และให้แรงกระตุ้น คำแนะนำอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยแนวหน้าที่ทำหน้าที่นี้คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่มีหน้าที่ออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอยู่แล้ว

4

ดังนั้น เราจึงขอให้เพิ่มการพูดคุยกับผู้สูงอายุใน 3 เรื่อง เพื่อย้ และฝังให้เป็นกิจวัตร เพื่อช่วยให้สุขภาพของพวกเขายังคงแข็งแรง และไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกตามมา

3 เรื่องที่ว่า คือ 1. การกิน ขอให้กินหารมีแคลเซียมสูง และวิตามินดีสูง ที่ครอบครัว หรือผู้สูงอายุมีบทบาทในการเลือกรับประทานได้ แต่ไม่จำเป็นจะต้องไปคิดเยอะ แค่คิดว่า ต้องกินนมอย่างน้อย 1 แก้วต่อวันหลังมื้ออาหาร แต่จำได้ง่ายที่สุด คือให้ทานหลังอาหารเช้าเลย ทำจนเป็นกิจวัตร

2. การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก จะช่วยให้ลดกระดูกพรุนได้ โดยผู้สูงอายุการออกกำลังกายที่ลงน้ำหนักดีที่สุดคือ การเดิน อย่างน้อย 2 รอบ/วัน รอบละ 30 นาทีก็พอ และ

3. การกำจัดสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง เราทำเช็กลิสต์ให้ตั้งแต่ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ จุดเสี่ยงเป็นอย่างไร และอสม. และร่วมกับทางญาติ ครอบครัว หรือ รพ.สต. และท้องถิ่น ที่มีงบประมาณดูแลประชาชน ได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม

"พื้นฐานของจังหวัดน่าน คือความร่วมมือร่วมใจกันของผู้คนในพื้นที่ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว เมื่อโรงพยาบาลมีโครงการน่านโมเดล ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้รับการสนับสนุน เพราะทุกภาคส่วนได้เห็นปัญหาร่วมกัน และมองถึงอนาคตได้อย่างร่วมกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่ดำเนินการ อีกทั้งงบประมาณจากท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ท้องถิ่นยังไม่รู้ว่าจะเอางบไปทำตรงไหน ยังไม่เห็นเป้า เมื่อเราชี้เป้าให้ว่าควรต้องทำเรื่องผู้สูงอายุ ก็ไม่ยากเลยที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างดี" นพ.วรพงษ์ ทิ้งท้าย