ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.บ่อเกลือ เผยใช้ไลน์ปรึกษา-วินิจฉัยคนไข้ร่วมกับ รพ.สต. และ รพ.เครือข่าย ชี้ได้ผลดีกับหน่วยบริการพื้นที่ห่างไกล ทั้งส่งต่อ ให้คำแนะนำรักษาตัว แต่ขณะนี้ระเบียบยังไม่รองรับ ไลน์ ให้เบิกจ่ายแบบ Telemedicine


นพ.ฬุจิศักดิ์ วรเดชวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน เปิดเผยกับ The Coverage ถึงประเด็นการให้บริการสุขภาพทางไกล หรือ Telemedicine ในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อน และยังเป็นพื้นที่ห่างไกลจากตัวอำเภอ ทำให้การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ต้องใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยระบุว่า ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีนโยบายการแพทย์ทางไกล หรือ Telehealth สำหรับพื้นที่ห่างไกล บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้ปรึกษาแนวทางการดูแลรักษา และวินิจฉัยโรคระหว่างกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ เป็นช่องทางการสื่อสารหลัก

ทั้งนี้ การปรึกษาระหว่างกันในพื้นที่ห่างไกลผ่านไลน์ให้ผลเป็นอย่างดี โดยเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.พร้อมกับคนไข้ หรือผู้ป่วย ได้ปรึกษาและรับการวินิจฉัยจากแพทย์โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ หากว่าโรคนั้นไม่ได้ร้ายแรง หรือมีผลกระทบต่อชีวิต ทำให้คนไข้ ผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ ซึ่งการให้บริการก็ไม่ได้แตกต่างกับการเจอแพทย์โดยตรง ทำให้ชาวบ้านได้รับความสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ยังทำให้การทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่สะดวกมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ แม้แต่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ก็ยังใช้ไลน์ในการส่งข้อมูลกับแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลเครือข่ายในกรณีที่ต้องส่งผู้ป่วย หรือคนไข้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน เพื่อส่งต่อข้อมูลการรักษาระหว่างกัน และยังช่วยให้มีการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลก็ตาม

นพ.ฬุจิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงพยาบาลบ่อเกลือ จะมีการปรึกษาผ่านไลน์กับ รพ.สต.ในพื้นที่ รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนแห่งอื่นๆ คือ โรงพยาบาลปัว และโรงพยาบาลน่าน เฉลี่ยแล้ว 5-10 เคส/วัน ซึ่งจะมีทั้งการที่คนไข้พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. รับคำปรึกษากับแพทย์โดยตรง หรือระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด ในการร่วมกันวินิจฉัยการรักษาให้กับคนไข้

นพ.ฬุจิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลบ่อเกลือได้ใช้ระบบ Telehealth ที่มีการพัฒนาขึ้นมาเหมือนกัน แต่เนื่องจากโรงพยาบาลตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล สัญญาณไม่มีความเสถียร จึงเลือกที่จะใช้ไลน์ซึ่งมีความเสถียรที่สุด แต่โปรแกรมไลน์ก็ยังมีข้อจำกัด คือไม่สามารถบันทึกข้อมูลเป็นภาพเคลื่อนไหว หรือบันทึกเสียงได้ จึงทำให้ไม่สามารถไปเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับบริการสุขภาพผู้ป่วยได้ ซึ่งหาก สปสช. หรือ สธ. มีแนวทางปรับปรุงนโยบายให้พื้นที่ห่างไกลมีความสะดวกในการเบิกจ่าย และให้บริการสุขภาพกับประชาชนมากขึ้น ก็น่าจะเป็นผลดีอย่างมาก