ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิทธิประโยชน์ ‘ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับขับถ่าย’ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุลงในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองไปแล้วนั้น ถูกพูดถึงในเชิงบวกและได้รับเสียงชื่นชมไปในทิศทางเดียวกันว่า มีประโยชน์ ตรงความต้องการ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้จริง

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าใครจะเบิกผ้าอ้อม-แผ่นรองซับ ที่ไหน-จำนวนเท่าใดก็ได้ หากแต่มีเงื่อนไขรายละเอียดกำหนดอยู่ โดยเฉพาะงบประมาณและการจัดหาที่ต้องดำเนินการผ่าน กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สปสช. และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ที่เทศบาลตำบลบางใหญ่ จ.นนทบุรี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้ขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์นี้จนออกดอกออกผล โครงการ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย และผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้” ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

1

นางนพรัตน์ ภู่เสือ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบางใหญ่ หรือที่ชาวชุมชนตำบลบางใหญ่รู้จักในชื่อ หมอนก ให้ภาพจากจุดเริ่มต้นที่เห็นโครงการและมองไปถึงผลระยะยาวว่า การแจกผ้าอ้อมให้กับประชาชนสิทธิบัตรทองที่จำเป็นต้องใช้ จะช่วยลดปัญหาให้กับผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะกับผลกระทบต่อรายจ่ายของครอบครัว

นั่นเพราะแต่เดิมที่ประชาชนต้องซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ใช้เอง ในท้องตลาดทั่วไปมีราคาแผ่นละประมาณ 15-20 บาท เฉลี่ยแล้วใช้อย่างน้อยวันละ 3 แผ่น จะต้องมีค่าใช้จ่ายตกเดือนละเกือบ 2,000 บาท แต่เมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมาจาก สปสช. ที่ให้ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการดูแลด้วย ก็ทำให้ประชาชนในเทศบาลตำบลบางใหญ่ 46 ราย ได้ลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ทั้ง 46 รายที่เข้าเกณฑ์การรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ‘หมอนก’ เสริมว่า กว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ที่ป่วยติดเตียง และอีกเกือบครึ่งหนึ่งก็เป็นคนวัยทำงาน วัยกลางคน ที่ต้องติดเตียงเพราะอุบัติเหตุ รวมไปถึงยังมีคนจำเป็นที่ต้องใช้เพราะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ และอุจจาระได้เลย

“ตอนเราลงไปสำรวจ เพื่อหาว่ามีใครบ้างที่จำเป็นต้องได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่บ้าง เราไล่สำรวจไปพร้อมกับการคัดกรองของเจ้าหน้าที่จากหน่วยบริการในพื้นที่ ที่ต้องรับรองว่าจำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เช่นกัน แต่การรับรองนี้เองที่ทำให้เกิดอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะมีประชาชนบางคนโดยเฉพาะคนสูงวัยที่ครองตัวเป็นโสดที่จำเป็นต้องใช้ แต่อายที่จะให้หมอได้ตรวจเพื่อรับรอง ทำให้บางส่วนขอสละสิทธิ์ แต่ท้องถิ่นอย่างเทศบาลตำบลบางใหญ่มองว่า ในเมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องได้ใช้” นางนพรัตน์ กล่าว

2

ทีมของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบางใหญ่ จึงล็อกเป้าหมายที่ขอสละสิทธิ และเฝ้าดูอย่างจริงจังว่าเป็นผู้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อม เพราะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ-อุจจาระได้ โดยเฉพาะในตอนกลางคืนที่มีปัญหาอย่างมาก และในฐานะที่ที่นางนพรัตน์เองก็เป็น Care Manager ที่ทำหน้าที่ค้นหา ประเมิน วางแผน และจัดการให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องการการดูแลระยะยาวสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสม จึงได้รับรองว่าเป็นคนที่จำเป็นต้องได้รับผ้าอ้อมจริงๆ

ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จึงถูกจำไปแจกจ่ายให้กับ 46 รายในแต่ละชุมชนของตำบลบางใหญ่ได้ใช้ เฉลี่ยแล้วก็มอบให้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.ระบุไว้คือไม่เกินคนละ 3 ชิ้น/วัน และท้องถิ่นสามารถจัดซื้อได้โดยตรงแต่ต้องไม่เกินชิ้นละ 9.50 บาทตามเงื่อนไข เพียงแต่ว่าเทศบาลตำบลบางใหญ่ จะใช้วิธีมอบผ้าอ้อมให้สามารถใช้ได้คราวละ 4 เดือนต่อเนื่องกัน โดยเมื่อใกล้ครบกำหนดก็จะมีการนำไปมอบให้ เพื่อให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ได้ใช้ผ้าอ้อมอย่างต่อเนื่อง

เสียงชื่นชมจากประชาชนในชุมชนกับโครงการนี้ ทำให้ผู้บริหาร บุคลากร ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้กำลังใจอย่างดี เพราะสิ่งที่ทำลงไปได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน

นายสามารถ อารยรุ่งโรจน์ นายกเทศมนตรีตำบลบางใหญ่ เสริมว่า โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่นับว่าตอบโจทย์ปัญหาให้กับประชาชนสิทธิบัตรทองได้หลายมิติ แน่นอนว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอง และประโยชน์นั้นยังส่งต่อมายังญาติ ครอบครัวของผู้ป่วย ที่ได้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากการมอบให้ไปใช้ได้ โดยไม่ต้องเสียเงินหาซื้อเองเหมือนกับที่ผ่านมา

แต่ทว่า หากโครงการนี้จะสมบูรณ์มากขึ้น ก็อยากให้มีการปรับเงื่อนไขที่อยากจะมอบให้กับเด็ก และเยาวชน ที่บางส่วนก็จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมเช่นกัน โดยเฉพาะกับเด็กที่ป่วย หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งในพื้นที่ตำบลบางใหญ่เองก็มีเช่นกัน แต่เด็กบางส่วนที่เราค้นพบเจอ ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่

3

นายสามารถ ให้ภาพอีกว่า ท้องถิ่นก็พร้อมจะสนับสนุนงบประมาณเข้าไปในกปท.เช่นกัน หากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้สิทธิประโยชน์มีความครอบคลุมมากขึ้น เพราะชุดสิทธิประโยชน์นี้จาก สปสช. ได้ส่งผลดีต่อประชาชนอย่างมาก และยังทำให้ท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราด้วย

นางสำราญ กิจเปรมถาวร อายุ 62 ที่ดูแลสามีวัย 77 ปี ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงมากว่า 3 ปี โดยอยู่กินกันสองคนพร้อมกับต้องเลี้ยงหลานวัย 3 ขวบ บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยค้าขายกับสามีสองคน แต่เมื่อสามีล้มป่วยเมื่อ 3 ปีก่อน จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็ต้องหยุดค้าขายเพื่อมาดูแลสามี ขณะเดียวกันสามีก็ต้องใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุกวันเพราะไม่สามารถไปขับถ่ายได้เอง ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายตกเดือนละ 500-600 บาท และจ่ายอย่างนี้มาตลอด 3 ปี โดยไม่มีรายได้ ยังชีพได้เพียงเงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และเงินผู้พิการของสามี

กระทั่งได้ยินจากข่าวว่าสปสช. จะมีการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับผู้ป่วยติดเตียง เราจึงไปขอกับทางเทศบาลตำบลบางใหญ่ และได้รับมอบอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยเหลือสองคนตายายอย่างพวกเรามาก เพราะที่ผ่านมาตลอด 3 ปี ต้องไปซื้อหาผ้าอ้อมมาให้สามีใช้ แม้ว่าจะมีรายได้เพียงน้อยนิดก็ตาม

“เราดีใจที่ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ขอบคุณ สปสช. ขอบคุณเทศบาลตำบลบางใหญ่ที่มามอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ เขาเอามาให้ 300 แผ่นเลย แล้วบอกวิธีใช้ และให้ใช้วันละ 3 แผ่น พอใกล้หมดแล้วจะมาเติมให้ มันช่วยเราได้มาก” นางสำราญ กล่าวทั้งน้ำตาพร้อมกับบอกว่า หากเป็นไปได้อยากให้มีสิทธิประโยชน์จำพวกอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มเติมหากเป็นไปได้

4

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารหน่วยงานที่ทำโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ เพื่อเป็นอีกหนึ่งชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง ได้สะท้อนถึงโครงการนี้ว่า โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ นี้เป็นมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ บอร์ด สปสช. ที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้เดินหน้าสิทธิประโยชน์นี้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียง กลุ่มที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ตามดัชนี ADL ระหว่าง 0-6 หรือตามแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) ไม่จำกัดอายุ ผ่านกลไก กปท. ที่ได้ร่วมกับ อปท. โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือมุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่

ปัจจุบันมีกลุ่มเป้าหมายที่ขอรับสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่  28,825 ราย ได้รับมอบผ้าอ้อมแล้ว 10,130 ราย เป็นจำนวน 10.9 ล้านชิ้น รวมเป็นงบประมาณ 103.9 ล้านบาท จากการดำเนินการโดย อปท. 438 แห่งทั่วประเทศ ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ และในปี 2566 นี้มีแผนการดำเนินการเพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่จำเป็นต้องได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ครอบคลุม 50,000 ราย

“สิทธิประโยชน์นี้เป็นข้อเสนอจากการรับฟังความเห็นและมีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพราะผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยด้านสุขอนามัยการขับถ่าย และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว ที่ผ่านมา สปสช. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งในด้านการดำเนินการ และประมาณ กระทั่งสำเร็จและได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 สปสช.ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งหน่วยบริการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในรูปแบบของ กปท.เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง” นพ.จเด็จ กล่าว