ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการสภาผู้บริโภค แนะ สธ. ทำข้อสั่งการ-แนวปฏิบัติให้ชัดเจน ไปยังทุก รพ. ‘ห้ามเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่ม’ ทุกกรณี รวมถึงควรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างระบบจัดการ ยา-วิธีการรักษา มาตรฐานเดียว ลดการเปรียบเทียบประสิทธิภาพบริการ แก้ปัญหา ‘Extra billing’


..สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรทำข้อสั่งการหรือแนวทางปฏิบัติไปยังโรงพยาบาลให้ชัดเจนว่า โรงพยาบาลไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการส่วนเพิ่ม (Extra billing) ทุกกรณีกับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตลอดจนสิทธิการรักษาอื่นๆ ด้วย รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้วิธีการรักษา และยามีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาหน่วยบริการเสนอบริการให้ผู้ป่วยเกิดเปรียบเทียบว่าสิ่งใดดีกว่า

น.ส.สารี กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า หน่วยบริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าส่วนเพิ่มจากผู้ใช้บริการที่ใช้สิทธิบัตรทอง ดังนั้นหาก สธ. มีการออกข้อสั่งการออกมาให้ชัดเจนควบคู่กันไปด้วย ก็จะช่วยแก้ไขปัญหา Extra billing ได้

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดของสภาองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 14 หน่วย และหน่วยงานประจำพื้นที่ ได้มีบทบาทในการช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน และทำเรื่องไปยังโรงพยาบาลเพื่อขอให้คืนเงินแก่ประชาชนมาตลอด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว ประเด็นเรื่องเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มที่ร้องเรียนเข้ามาจะเป็นเรื่องค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษานอกเวลาราชการ ค่ายานอกบัญชียาหลักฯ ค่าอุปกรณ์ส่วนต่าง และค่าบริการรับส่งต่อผู้ป่วย

“จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีผู้ร้องเรียนมาในประเด็นนี้มาที่สภาผู้บริโภคฯ ทั้งหมดราว 44 คน แบ่งออกเป็น ค่าบริการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 14 คน และค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินกว่า 30 คน โดยค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินเราเก็บข้อมูลรวมกับการถูกเรียกเก็บในช่วงโควิดด้วยเลยอาจไม่ได้ตัวเลขละเอียดที่บอกได้แบบเจาะจง” น.ส.สารี ระบุ

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคฯ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากประเด็นค่าบริการการรักษากรณีฉุกเฉินนั้นพบมากกว่าเรื่องอื่นๆ จึงได้ผลักดันไปในทางนโยบายด้วยกัน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การปรับเกณฑ์กรณีฉุกเฉินห้ามเรียกเก็บทุกกรณี 2. หากระดับความรุนแรงของโรคเป็นสีเขียว หรือสีเหลือง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด 3. ทางสภาผู้บริโภคฯ ได้ร่วมเป็นคณะทำงานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เพื่อปรับเกณฑ์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมระดับความรุนแรงอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคฯ ยังได้ร่วมมือกับทาง สปสช. ในการให้ข้อมูลกับหน่วยบริการว่าไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม หรือเกินอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม และให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภครู้ถึงสิทธิของตนเองภายใต้สิทธิบัตรทอง รวมถึงประชาสัมพันธ์ว่าถ้าประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม ก่อนที่จะจ่ายค่าบริการสามารถโทรไปที่สายด่วน สปสช. 1330 และสภาองค์กรของผู้บริโภคฯ หรือหน่วยงานประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เจรจากับทางโรงพยาบาลก่อนได้

“เราพยายามสร้างความเข้าใจให้กับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะโรงพยาบาล เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้นมาทางโรงพยาบาลก็ต้องคืนเงินให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว คณะกรรมการควบคุมฯ จะมีมติให้คืนเงินแก่ประชาชนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จากเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น รวมถึงโรงพยาบาลจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 โดยใช่เหตุอีกด้วย” น.ส.สารี กล่าว