ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลจาก ชมรมแรงงานวิทยา ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนงาน จับชีพจรแรงงานสุขภาวะพบว่าเข้าขั้นโคม่า สาเหตุเกิดจากคนงาน “ติดกับดักค่าจ้าง” รายได้ไม่พอยาไส้ ต้องกัดฟันทำงานหนักจนไม่มีเวลาใส่ใจสุขภาพ

หนำซ้ำเมื่อป่วยเป็นโรคร้ายแรงทำงานไม่ไหวเสี่ยงโดนไล่ออก ซ้ำร้ายระบบวินิจฉัยโรคอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแยกไม่ออกระหว่าง "โรคจากการทำงาน" หรือ "พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ" จนนำไปสู่ข้อขัดแย้งฟ้องร้องขึ้นศาลแรงงานฯ

ท้ายที่สุด คนงานสายป่านสั้นคดียืดเยื้อต้องจำนนรับเงินค่าเยียวยาปิดปาก ทางชมรมฯ เสนอทางออกควรทำ “ประกันสุขภาพหมู่” นายจ้าง-ลูกจ้าง ร่วมจ่ายกันคนละครึ่ง พร้อมตั้ง “องค์กรกลาง” พิสูจน์ต้องไม่ปล่อยให้คนงานรักษาตัวเองอย่างเคว้งคว้าง หรือเสียชีวิตอย่างมีปริศนา

สำหรับสถานการณ์ปัญหา "แรงงานสุขภาวะ" ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ตั้งแต่น่าเป็นห่วงอย่างมาก สามารถจำแนกสาเหตุได้ดังนี้

1. พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ จากการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นๆ

2 .สภาพแวดล้อมจากการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อการดูแลสุขภาพ อาทิ อาหารที่จำหน่ายในโรงงานขาดประโยชน์ทางโภชนาการเนื่องจากร้านค้าถูกบีบบังคับด้านราคาให้เหลือ 25 - 30 บาท แม้จะเป็นราคาที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ใช้แรงงานหันไปรับประทานอาหารสำเร็จรูปมากกว่า หรือ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา เพราะต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อให้ทันเวลาเข้างาน และ ช่วงเวลาพักมีน้อยทำให้ไม่รู้สึกหิวช่วงเวลาทำงาน จึงไปเน้นหนักรับประทานอาหารมื้อเย็น หรือ มื้อค่ำ หลังเวลาเลิกงานไปแล้ว จึงกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

3. การวินิจฉัยโรคโดยอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไม่สามารถแยกแยะสาเหตุที่ชัดเจนได้ระหว่างเจ็บ ป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำงาน หรือ พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ จนนำไปสู่ข้อขัดแย้งทางกฎหมาย ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เพื่อเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนจากอันตราย เจ็บป่วย หรือ ถึงแก่ความตายจากการทำงาน และเมื่อคดีความขึ้นสู่ชั้นศาลแรงงานกลาง จะใช้เวลานานเฉลี่ย 2 - 10 ปี จึงทำให้ผู้ใช้แรงงานเสียเปรียบด้านค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีและเสี่ยงแพ้คดีสูงจนในที่สุดอาจไกล่เกลี่ยและยอมความไปโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

4. ติดกับดักค่าจ้าง เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาทต่อวัน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) ทำให้ชั่วโมงการทำงานสูงมาก เฉลี่ย 12 – 14 ชั่วโมงต่อวัน จึงทำให้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพทั้งเวลาพักผ่อน หรือ เวลาออกกำลังกาย

5. พฤติกรรมเสี่ยงด้านอบายมุข เนื่องจากเมื่อผู้ใช้แรงงานมีรายได้น้อย จึงเหมือนถูกบีบคั้นในทางอ้อมให้ต้องหารายได้เพิ่มมาจุนเจือครอบครัว จึงอาจหลงผิดไปเล่นพนันออนไลน์ หรือ เล่นหวย เป็นต้น

2

สำหรับข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาแรงงานสุขภาวะ มีดังนี้

1. ประกันสุขภาพหมู่ ร่วมสมทบระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โรคที่อาจจะสืบเนื่องจากการทำงาน เพื่อจะได้รับเงินชดเชยระหว่างหยุดงานเพื่อรักษาตัว หรือ ได้รับเงินเยียวยาดูแลคนข้างหลังหากต้องเสียชีวิต เพราะผู้ใช้แรงงานไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอจะซื้อประกันสุขภาพเฉลี่ยปีละหลายหมื่นบาท

2. จัดตั้งองค์กรกลาง ที่สามารถวินิจฉัยโรคจากการทำงาน หรือ พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ ระหว่างผู้ใช้แรงงานเจ็บป่วย หรือ ภายหลังเสียชีวิตในทันทีหากสาเหตุการเสียชีวิตเกิดข้อเคลือบแคลงสงสัย พร้อมกับปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลแรงงานให้รวดเร็ว เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิแรงงานที่สมควรได้รับ

3. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Officer) ต้องทำหน้าที่ปกป้องดูแลไม่ให้ผู้ใช้แรงงานประสบอันตรายหรือมีความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น ระบบป้องกันเครื่องจักร สารพิษ ฝุ่นละออง แสง สี และ เสียง เป็นต้น

4. สนับสนุนการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อหาสาเหตุโรคจากการทำงานหรือพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมรณรงค์ให้ผู้ใช้แรงงานหมั่นดูแลสุขภาพ

5. จัดพื้นที่สุขภาพ ให้ผู้ใช้แรงงานได้ออกกำลังกาย เช่น จัดกีฬาสีระหว่างแผนก เป็นต้น