ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง และผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ห่างไกล “ผอ.รพ.สต.บ้านผักเฮือก” ชี้ ผู้ป่วยล้างไตได้เองที่บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางกว่าเดือนละ 2 พันบาท ด้านผู้ใหญ่บ้านเผยคนในชุมชนลงแรงช่วยกันปรับปรุงห้องล้างไตให้ผู้ป่วยในหมู่บ้าน วันเดียวเสร็จ รองเลขา สปสช. สะท้อนตัวอย่างความสำเร็จของพื้นที่ห่างไกล แต่การดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง ยังเดินทางไปถึง ย้ำสปสช.พร้อมปรับปรุงระบบ ให้เอื้อกับพื้นที่ได้ทำงานดูแลประชาชน 


วันที่ 23 ม.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) และผู้ป่วยติดเตียง ของโรงพยาบาลบ่อเกลือและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ โดยเป็นการจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกลให้กับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) โดยมีเจ้าหน้าที่บุคลากรแพทย์จากโรงพยาบาลบ่อเกลือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านผักเฮือก นำชมการบริการดูแลผู้ป่วย 

สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ล้างไตผ่านทางช่องท้องรายนี้ ได้รับการดูแลและฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดโดยสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) บ้านยอดดอยวัฒนา และ รพ.สต.บ้านผักเฮือก ซึ่งผู้ป่วยขอรับการสนับสนุนเครื่องล้างไตอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกในการล้างไตตอนกลางคืน ขณะที่ผู้ป่วยอีกรายที่มีภาวะติดเตียง ได้รับการดูแลจากรพ.สต. และโรงพยาบาลบ่อเกลือที่สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูป ที่เป็นอีกชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 

3

นายอดิศักดิ์ สุยะ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านผักเฮือก กล่าวว่า รพ.สต.บ้านผักเฮือกรับผิดชอบ 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 3,000 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง 3 ราย และผู้ป่วยติดเตียงอีก 4 ราย ในส่วนของผู้ป่วยโรคไตนั้นอยู่ห่างจาก รพ.สต.ไม่ต่ำกว่า 20 กม. จึงให้ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องที่บ้าน แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีฐานะยากจน จึงได้ขอความร่วมมือชุมชน ในการจัดทำห้องสำหรับล้างไตให้ รวมทั้งขอรับการสนับสนุนเตียงจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดน่าน ขณะที่ รพ.สต. จะจัดทีมออกเยี่ยมบ้านในทุกๆ วันจันทร์และพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ 

ขณะที่ผู้ป่วยติดเตียงจะมี อสม. ให้การดูแลเข้าไปเยี่ยมวัดไข้ วัดความดันโลหิต ตลอดจนให้คำแนะนำในการดูแลต่างๆทุก 2 วัน อีกทั้งผู้ป่วยจะมีหมายเลขโทรศัพท์ของ รพ.สต. สำหรับติดต่อ หากมีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถแจ้งมาที่ รพ.สต. ได้ทันที เจ้าหน้าที่จะออกไปเยี่ยมบ้านโดยไม่จำเป็นต้องรอตามกำหนดการเดิม 

“การที่ผู้ป่วยได้ทำการล้างไตที่บ้านอย่างถูกต้องผ่านคำแนะนำ และได้รับการติดตามของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้าไปยังโรงพยาบาลอำเภอบ่อเกลือเพื่อไปล้างไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทางได้สัปดาห์ละ 600 บาท ทำให้ผู้ป่วยมีเงินเหลือเก็บได้อีกเดือนละกว่า 2,000 บาท” นายอดิศักดิ์ กล่าว 

นายจรัส พนะสัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านยอดดอยวัฒนา ม.10 ต.บ่อเกลือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กล่าวว่า การปรับปรุง และจัดทำห้องสำหรับล้างไตให้ผู้ป่วยในหมู่บ้านที่มีฐานะยากจน จะอาศัยความร่วมมือของคนในหมู่บ้าน ชุมชน ได้มาช่วยกันปรับปรุงตามกำลังที่มี โดยไม่ได้ขอรับการสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งห้องล้างไตที่จัดทำขึ้น ได้ดำเนินการร่วมกันกับรพ.สต.ในพื้นที่ ซึ่งใช้ระยะเวลาแค่ 1 วันก็จัดการได้เสร็จ 

น.ส.พิมพิไล ช่างทอง หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลบ่อเกลือ กล่าวว่า อ.บ่อเกลือ อยู่ห่างจากอ.เมืองน่าน ประมาณ 106 กม. พื้นที่ส่วนใหญ่ 80% เป็นพื้นที่ภูเขา อีก 20% เป็นที่ราบ ประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 13,000 คน ในส่วนของผู้ป่วยต้องฟอกไตทางหน้าท้องมี 11 ราย ที่รับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวและโรงพยาบาลน่าน เมื่อส่งมาที่บ่อเกลือแล้วจะมีพยาบาลผู้รับผิดชอบงานโรคไตทำหน้าที่ติดตามอาการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมประเมินที่อยู่อาศัยว่าเอื้อต่อการล้างไตทางหน้าท้องหรือไม่ หากทำที่บ้านไม่ได้ก็จะประสานองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลจัดสถานที่ล้างไตที่เหมาะสมให้ 

นอกจากนี้ พยาบาลจะลงพื้นที่ติดตามอาการผู้ป่วยทุกเดือน รวมทั้งส่งข้อมูลให้ รพ.สต. ในพื้นที่ติดตามซ้ำ กรณีผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน พยาบาลผู้รับผิดชอบสามารถโทรปรึกษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว หรือโรงพยาบาลน่านได้ตลอด 24 ชม. และหากต้องมีการส่งต่อ ทางโรงพยาบาลบ่อเกลือก็จะจัดรถพยาบาลไปส่ง 

3

สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เมื่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว หรือโรงพยาบาลน่าน ได้ส่งตัวมาแล้ว พยาบาลจะแจ้งกับรพ.สต. เพื่อติดตามอาการ พร้อมลงพื้นที่ไปกับทีมรพ.สต.ในสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะมีการเยี่ยมประเมินทุก 3 เดือน หรือหากเป็นผู้ป่วยในที่แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลบ่อเกลือแล้ว จะมีการประเมินกิจวัตรประจำวัน (ADL) หากได้คะแนนต่ำกว่า 20 จะประเมินซ้ำเป็นระยะ  1 สัปดาห์  1 เดือน และ 3 เดือน ขณะเดียวกัน จะมีนักกายภาพบำบัดและนักโภชนาการ ร่วมออกหน่วยไปกับทีมสหวิชาชีพเพื่อให้้คำแนะนำในการทำกายภาพบำบัด และการให้อาหารทางสายยาง 

“พยาบาลผู้รับผิดชอบจะมีรายชื่อผู้ป่วยและออกเยี่ยมแม้จะอยู่บนพื้นที่สูง หรือห่างไกล ทั้งเยี่ยมตามปกติและเยี่ยมเมื่อผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน ในกรณีที่ไปเยี่ยมบ้านแล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน พยาบาลจะโทรปรึกษาแพทย์ ถ้าจำเป็นต้องพบแพทย์ก็จะมีรถพยาบาลไปรับได้ทันที” น.ส.พิมพิไล กล่าว 

ด้าน ทพ.อรรถรพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกลที่อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นอีกตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า กลไกต่างๆ ในระบบสุขภาพของประเทศไทย ยังสามารถจัดบริการได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง พร้อมเข้าถึงยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิประโยชน์บัตรทองจะทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยายาล แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด ซึ่งต้องไปโรงพยาบาลแม่ข่าย และมีค่าใช้จ่ายวันละหลายร้อยบาท แต่ท้ังนี้ โรงพยาบาลบ่อเกลือ พยายามใช้การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine สำหรับดูแลผู้ป่วยได้พบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน สปสช.มีสิทธิประโยชน์ในการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับบริการ Telemedicine 

ขณะเดียวกัน สปสช.พร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุง เพิ่มเติมให้การบริการสุขภาพสำหรับประชาชนให้ดี และเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะกฏระเบียบที่อาจทำให้หน่วยบริการทำงานได้ไม่สะดวก ซึ่งสปสช.พร้อมจะรับข้อมูลไปเพื่อปรับให้การบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ดีมากขึ้น 

"การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine อาจจะมีปัญหาในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ แต่ก็ยังสามารถใช้บริการ Telemedicine ได้ผ่านสมาร์ทโฟนของ อสม. หรือของรพ.สต.ในพื้นที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ได้" ทพ.อรรถพร กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ