ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกเทศมนตรีบางใหญ่ แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่สิทธิบัตรทองจากงบ กปท. ให้ผู้ป่วยที่จำเป็นได้ใช้ ชี้เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ได้ผล ตรงใจท้องถิ่น ตอบสนองดูแลประชาชน เล็งต่อยอดโครงการเด็กไทยสายตาดี ตรวจสายตาให้เด็กปฐมวัยตำบล ด้าน เลขาฯ สปสช. ระบุเป็นนโยบาย รมว.สาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยด้านสุขอนามัย เผยมีกลุ่มเป้าหมายขอรับผ้าอ้อมแล้ว 2.88 หมื่นคน ได้รับผ้าอ้อมแล้ว 10,130 คน หรือ 10.9 ล้านชิ้น


เทศบาลตำบลบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พร้อมด้วยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบางใหญ่ และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย และผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ โดยนำผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปมอบให้กับผู้ป่วยในเขตเทศบาลตำบลจำนวน 46 ราย เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่เป็นกองทุนซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ได้ร่วมกันสนับสนุนเพื่อใช้เป็นกองทุนสำหรับดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพในทุกพื้นที่

1

นายสามารถ อารยรุ่งโรจน์ นายกเทศมนตรีตำบลบางใหญ่ เปิดเผยว่า โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย และผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้นั้น เทศบาลตำบลบางใหญ่ใช้งบประมาณจาก กปท. ที่เป็นกองทุนสนับสนุนร่วมกันระหว่างสปสช. และเทศบาลตำบลบางใหญ่ โดยได้แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นในชุมชนต่างๆ ของเขตเทศบาลรวม 46 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ติดเตียงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ทั้งนี้ รูปแบบการแจกผ้าอ้อมกับผู้ป่วยติดเตียงและผู้ที่มีภาวะบกพร่องการขับถ่าย จะแจก 3 เดือน/ครั้ง ซึ่งเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยจะได้รับผ้าอ้อมเพื่อนำไปใช้คนละ 3 ชิ้นต่อวัน ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างก็ตรงกับระเบียบของ สปสช. ที่ให้จัดซื้อได้ไม่เกินชิ้นละ 9.50 บาท 

2

นายสามารถ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์กับประชาชนมากที่สุด เพราะได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และในอนาคตเทศบาลตำบลบางใหญ่ จะทำโครงการเด็กไทยสายตาดี โดยจัดหาแว่นสายตาให้กับเด็กปฐมวัยตั้งแต่อายุ 3-12 ปี ที่มีความผิดปกติทางสายสตา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ของสปสช. ที่ให้ท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมได้ด้วย โดยขณะนี้กำลังประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้จักษุแพทย์ได้ร่วมกันกับท้องถิ่นจัดหาแว่นตาให้กับเด็กปฐมวัยในพื้นที่รับผิดชอบ 

ด้าน นางนพรัตน์ ภู่เสือ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลบางใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้จำเป็นต้องได้รับผ้าอ้อมสำเร็จรูปจากโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของเทศบาลตำบลบางใหญ่ ทั้งหมด 46 ราย ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ติดเตียงและมีโรคประจำตัว รวมไปถึงยังมีบุคคลที่มีความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน (ADL) มีค่าต่ำกว่า 6 คะแนน อีกกว่า 20 ราย ซึ่งจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุมาก่อน 

3

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และถือว่าเป็นโครงการที่ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ- อุจจาระได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเหลือครอบครัว ญาติของผู้ป่วย ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่จากเดิมที่ต้องซื้อมาใช้เองทั้งหมด 

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. เดินหน้าสิทธิประโยขน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียง กลุ่มที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ตามดัชนี ADL ระหว่าง 0-6 หรือตามแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) ไม่จำกัดอายุ โดยดำเนินการผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่

3

สำหรับล่าสุด ภาพรวมทั้งประเทศมีจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ขอรับสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 28,825 ราย ได้รับผ้าอ้อมแล้ว 10,130 ราย เป็นจำนวน 10.9 ล้านชิ้น รวมเป็นงบประมาณ 103.9 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดย อปท. 438 แห่งทั่วประเทศ และมีที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มเติม

“สิทธิประโยชน์นี้เป็นข้อเสนอจากการรับฟังความเห็น และเป็นนโยบายโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ให้ผลักดันเรื่องนี้ ด้วยเป็นวัสดุที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยด้านสุขอนามัยการขับถ่ายและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วยได้ ที่ผ่านมา สปสช.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ทั้งการดำเนินการและประมาณ จนสำเร็จและบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ สปสช. และทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม ทั้งหน่วยบริการและท้องถิ่นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว