ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

1 ใน 8 ประชากรโลก หรือเกือบ 1,000 ล้านคน ในประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องรับบริการจากหน่วยบริการสุขภาพที่ขาดไฟฟ้า ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการดูแลรักษา และเกิดข้อจำกัดให้บริการบางประเภท

องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับองค์กรในภาคีได้เผยแพร่รายงาน การเข้าถึงไฟฟ้าในสถานพยาบาลในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง (Energizing health: accelerating electricity access in health-care facilities) โดยระบุว่า สถานพยาบาลหลายแห่งทั่วโลกยังขาดแคลนไฟฟ้า แม้ว่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ รวมถึงการคลอดเด็กอย่างปลอดภัย การจัดการผู้ป่วยฉุกเฉินจากอาการหัวใจวาย และการเก็บรักษาวัคซีนสำหรับเด็กและประชากรท้องถิ่น

อุปกรณ์การแพทย์ส่วนมากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างในการผ่าตัด เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด เมื่อขาดไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพแล้ว ย่อมไม่สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าในสถานพยาบาลสามารถกำหนดความเป็นความตายของผู้ป่วยได้ พญ.มาเรีย ไนรา (Maria Neira) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพประชากร ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าว

“การลงทุนเพื่อเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพ และเป็นพลังงานสะอาด มีความสำคัญต่อการรับมือโรคระบาด และสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ซึ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติที่นำไปสู่อาการป่วย)”

รายงานขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า สถานพยาบาล 1 ใน 10 ของประเทศกลุ่มเอเชียใต้และแอฟริกาไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า ครึ่งหนึ่งของสถานพยาบาลในแอฟริกาประสบปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ

คาดการณ์ว่ามีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องรับบริการจากสถานพยาบาลที่ไฟฟ้าขาดเสถียรภาพ หรือไม่มีไฟฟ้าเลย จำนวนประชากรกลุ่มนี้เทียบเท่ากับประชากรรวมในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน และเยอรมนี

นอกจากนี้ ยังพบความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงไฟฟ้าภายในกลุ่มประเทศนี้ หน่วยพยาบาลปฐมภูมิและสถานพยาบาลที่อยู่ในชนบทมีแนวโน้มเข้าถึงไฟฟ้าน้อยกว่าในเมือง

รายงานชิ้นนี้เสนอให้นานาประเทศคำนึงถึงไฟฟ้า ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนา ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ

2 ใน 3 ของสถานพยาบาลยังต้องการความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า หรือการทำระบบไฟฟ้าสำรอง

ธนาคารโลกประมารการณ์ว่าต้องใช้เม็ดเงินลงทุน 1.65 แสนล้านบาท ในการยกระดับระบบไฟฟ้าให้ได้มาตรฐานในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง

รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความคุ้มค่าในการลงทุน สามารถทำระบบภายในสถานพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องรอระบบสายส่งไฟฟ้าจากส่วนกลาง

การใช้พลังงานสะอาดยังสอดคล้องต่อแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเน้นลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถานพยาบาลเป็นหนึ่งในตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ และสร้างขยะที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

องค์การอนามัยโลกได้ทำแนวทางการจัดการสถานพยาบาลอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีระบบการจัดการขยะ และทำระบบจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปตามแนวทางการยั่งยืน

อ่านข่าวต้นฉบับ:
https://news.un.org/en/story/2023/01/1132457

อ่านรายงาน Energizing health: accelerating electricity access in health-care facilities:
https://www.who.int/publications/i/item/energizing-health--accelerating-electricity-access-in-health-care-facilities