ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จักษุแพทย์ รพ.อุดรธานี ทำงานเชิงรุก ลุยอำเภอห่างไกลตรวจสายตาให้เด็ก 3-12 ปี ใครสายตาสั้นได้แว่นฟรีจาก สปสช. 1 อันต่อปี ‘สปสช.’ ชื่นชมทุกฝ่ายร่วมกันทำงานเพื่ออนาคตของประเทศ ย้ำสิทธิประโยชน์นี้ไม่ใช่ให้แค่แว่น แต่ให้โลกใบใหม่กับเด็กไทย ด้าน ผอ.สปสช.เขต 8 ชี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเด็กมองเห็นชัดขึ้น จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา 


วันที่ 13 ม.ค.2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี พร้อมด้วยคณะบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อ.นายูง จ.อุดรธานี เพื่อสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ หลังจากที่ สปสช.ได้เพิ่มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์โครงการเด็กไทยสายตาดี ปี 2565 มอบแว่นตาเพื่อแก้ปัญหาให้กับเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 3-12 ปี หรือ ตั้งแต่ ป.1-ป.6 ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

3
 
สำหรับโครงการดังกล่าวในพื้นที่ อ.นายูง จ.อุดรธานี เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี, จักษุแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานีซึ่งเป็นหน่วยตรวจตา, สาธารณสุขอำเภอนายูง, โรงพยาบาลนายูง, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลตำบลนายูง เทศบาลตำบลโนนทอง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านก้อง และ อบต.นาแค ที่ร่วมกันคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และวัดค่าสายตาให้กับเด็กปฐมวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ทพ.อรรถพร ได้นำคณะมอบแว่นตาให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 ด้วย พร้อมกันนี้ยังเยี่ยมเด็กนักเรียนที่ได้รับมอบแว่นตาตามโครงการ 2 ราย ซึ่งมีภาวะผิดปกติทางสายตาด้วย 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เด็กที่มีปัญหาทางสายตาจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการในวัยเรียน และจะส่งผลต่อการพัฒนาเจริญเติบโตตามช่วงวัยด้วย โดยเฉพาะกับพัฒนาการทางสติปัญญาและการรเรียนรู้  สปสช.จึงเพิ่มบริการแก่เด็กปฐมวัยทุกคนที่มีผิดปกติทางสายตาและต้องใส่แว่น ให้ได้รับแว่นตาคนละไม่เกิน 1 อันต่อปี โดยกระบวนการจะมีการคัดกรองในเด็กนักเรียนจากครู หากพบว่าผิดปกติที่ส่งผลต่อการเรียน เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน หรือต้องเพ่งมองขณะอ่านหนังสือ เป็นต้น ก็จะมีการวัดค่าสายตาโดยจักษุแพทย์ 

3

ทั้งนี้ หากพบว่าต้องใส่แว่นตาก็จะมีสิทธิประโยชน์มอบให้ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ สปสช.ให้การสนับสนุนเด็กปฐมวัยให้ได้รับแว่นตา

นอกจากนี้ กระบวนการตัดแว่นให้เด็กเป็นแค่ปลายทาง แต่สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มาช่วยเด็กปฐมวัย สำหรับราคาแว่นตามตามสิทธิประโยชน์ จะมีงบประมาณ 600 บาท/คน ซึ่งเป็นราคาที่สามารถหาแว่นตา พร้อมกับเลนส์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมอบให้กับเด็กที่มีปัญหาทางสายตาได้ และจะมีการติดตามหลังจากที่ได้รับแว่นตาไปแล้วครบ 6 เดือน 

3

“เราไม่ได้ให้แค่แว่นตา แต่เราให้โลกใบใหม่กับเด็กปฐมวัย ที่จะมองได้ชัดเจนขึ้น และเด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่จะเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย การมองภาพที่ชัดเจนสามารถแทนคำพูดได้นับล้านคำ ซึ่งต้องขอชื่นชมการทำงานของ สปสช.เขต 8 และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะ สปสช.ให้ได้แค่สิทธิประโยชน์ แต่หากพื้นที่ หรือไม่มีผู้ใหญ่ ท้องถิ่น เข้ามาบริหารจัดการให้สิทธิประโยชน์ไปสู่ประชาชน สิทธิต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่มีความหมาย” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ปกครอง หรือครูของเด็กปฐมวัย หากสังเกตว่าเด็กมีสายตาผิดปกติ สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยได้ที่หน่วยบริการ หากวินิจฉัยว่าสายตาผิดปกติก็สามารถรับแว่นได้ ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นก็ยังสามารถให้การสนับสนุนส่งต่อเด็กที่มีสายตาผิดปกติ ได้ไปรับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลของประจำอำเภอ เพราะหากสายตาผิดปกติมากก็ต้องได้รับการรักษา อีกทั้ง ท้องถิ่นยังจัดทำโครงการนี้ผ่านงบกองทุกหักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือ กปท. ได้ด้วย 

3

3

นพ.พิชา พนาวัฒนวงศ์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี มอบหมายให้โรงพยาบาลอุดรธานี ลงพื้นที่คัดกรองเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาทางสายตาแบบเชิงรุก โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่อยุ่ในอำเภอห่างไกล ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในโครงการเด็กไทยสายตาดี ปี 2565 ของ สปสช. โดยมีทีมจักษุแพทย์ที่สอนการคัดกรองเบื้องต้นและการตรวจวัดสายตาที่ผิดปกติของนักเรียน ให้กับครู และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งได้นำร่องใน อ.นายูงเป็นที่แรก เนื่องจากเป็นอำเภอที่ห่างไกล และมีเด็กที่มีภาวะผิดปกติทางสายตาที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา หรือการได้รับสิทธิประโยชน์จาก สปสช. 

ทั้งนี้ ในพื้นที่ อ.นายูง มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 22 แห่ง มีการตรวจวัดสายตาเบื้องต้นโดยครู และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ให้กับเด็กปฐมวัย 2,140 ราย จากเป้าหมายทั้งหมด 2,159 ราย โดยพบว่ามีเด็กปฐมวัยผิดปกติทางสายตา 176 ราย และต้องส่งพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอาการ 169 ราย และได้รับแว่นตาจากโครงการฯ 155 ราย 

ทางด้าน ทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในการมอบแว่นตาให้กับเด็กปฐมวัยที่ผิดปกติทางสายตาของ สปสช. คือการลงทุนทางสุขภาพ ที่จะมีผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะเป็นการลงทุนให้กับทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นเด็กปฐมวัย ได้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และส่งผลให้มีการเรียน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชุมชน และจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมากมายในอนาคต 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ