ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. จัดประชุมผู้เยี่ยมสำรวจเพื่อสื่อสารทิศทางนโยบายการดำเนินงานในปี 2566 ชี้ปัจจุบันคือยุคของการเปลี่ยนแปลง ผู้เยี่ยมสำรวจต้องเพิ่ม meta skill หรือทักษะใหม่ที่เกิดขึ้น "เพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต" และถ่ายทอดให้แก่สถานพยาบาลเพื่อให้พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในอนาคต


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดการประชุมวิชาการประจำปี ผู้เยี่ยมสำรวจ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ตดอนเมือง ระหว่างวันที่ 13-14 ม.ค. 2566 เพื่อสื่อสารทิศทางนโยบายการดำเนินงานของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้เยี่ยมสำรวจ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาสมรรถนะผู้เยี่ยมสำรวจ และเสริมสร้างองค์ความรู้เชิงวิชาการที่เป็นปัจจุบัน โดยมีผู้เยี่ยมสำรวจของ สรพ. จากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุม

2

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการ สรพ. กล่าวเปิดการประชุมผ่านสื่อวีดิโอ ว่า การเยี่ยมสำรวจเป็นกลไกที่มีความต่อระบบสุขภาพและสังคมไทย การเยี่ยมสำรวจที่ดีสามารถชี้จุดที่ควรพัฒนา สามารถแนะนำสิ่งที่ควรทำแก่สถานพยาบาล แลเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่สถานพยาบาลต่างๆ   ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5 ประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระทบต่อระบบสุขภาพ คือ globalization, digitalization, disintermediation, disruptive technology และ climate change ผู้เยี่ยมสำรวจจะทำอย่างไรให้ระบบสุขภาพและสถานพยาบาลเผชิญกับคลื่น 5 ลูกนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทักษะเดิมของผู้เยี่ยมสำรวจปัจจุบันที่มี hard skill, soft skill, 21st century skill อาจไม่เพียงพอ ทักษะที่ผู้เยี่ยมสำรวจอาจต้องเริ่มหารือกัน คือ meta skill ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้พร้อมจะสู้กับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต  

ดังนั้น hard skill, soft skill, 21st century skill และ meta skill จะเป็นทักษะสำคัญของผู้เยี่ยมสำรวจยุคใหม่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เยี่ยมสำรวจจะมีความสามารถและพร้อมถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้แก่สถานพยาบาลที่ผ่านการเยี่ยมสำรวจต่อไป

2

ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานปี 2566 ว่า สรพ. ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ เป็น “สถานพยาบาลมีคุณภาพระดับสากล ประชาชนปลอดภัยด้วยมาตรฐาน HA” จะเห็นว่าวิสัยทัศน์นี้ต้องการวัดใน 3 ระดับ คือ สถานพยาบาล ประชาชน และ การก้าวสู่ระดับสากล และสิ่งที่เปลี่ยนไปคือกลุ่มเป้าหมายการรับรองคุณภาพไม่ใช่แค่สถานพยาบาลเท่านั้น แต่ต้องแตะไปถึงประชาชน ดังนั้น การเยี่ยมสำรวจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลผ่านการรับรอง แต่เมื่อโรงพยาบาลผ่านการรับรองแล้วจะต้องมีการส่งมอบบริการที่ปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งเมื่อผ่านการรับรองคุณภาพแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้กำหนดนโยบายได้ประโยชน์จากการรับรองนั้นอย่างไร 

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์ สรพ. ปี 2566-2570 ในส่วนของผู้เยี่ยมสำรวจจะเกี่ยวข้องในยุทธศาสตร์การสร้างความไว้วางใจในระบบบริการสุขภาพไทยด้วยกระบวนการ HA ซึ่งสิ่งที่จะมีการติดตามผลในปีนี้คือ มาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัย โดยดูว่าสถานพยาบาลมีผลลัพธ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานสำคัญจำเป็นมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นสิ่งสะท้อนว่าประชาชนได้รับบริการที่มีความปลอดภัย  ขณะเดียวกัน ในส่วนของขั้นตอนการรับรองคุณภาพ จากเดิมที่มีการพัฒนากระบวนการคุณภาพ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และ ขั้นที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น การพัฒนากระบวนการคุณภาพ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 จากนั้นเป็นการรับรองคุณภาพขั้นมาตรฐาน และขั้นก้าวหน้า เหตุผลเพื่อให้โรงพยาบาลเห็นเส้นทางการพัฒนาที่ชัดเจนว่าทุกโรงพยาบาลสามารถพัฒนาไปสู่ขั้นก้าวหน้าได้

1