ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแถลงข่าว “โรงพยาบาลปลวกแดง 2 การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) แห่งแรกของประเทศ” เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565 มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

เพราะนี่จะเป็นการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จ.ระยอง จาก 60 เตียง เป็น 120-200 เตียง ด้วยรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่าลงทุน 2,647 ล้านบาท

โรงพยาบาลปลวกแดง 2 ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

1

แน่นอนว่า พื้นที่ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยโครงการพัฒนา แรงงาน นักลงทุน ผู้คน ฯลฯ ซึ่ง จ.ระยอง เพียงจังหวัดเดียว มีนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม มากถึง 7 แห่ง 

มีสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกประกันสังคม 2,532 แห่ง ผู้ประกันตน 213,201 คน ประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 78,531 คน และผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 48,182 คน 

ทว่า โรงพยาบาลปลวกแดง 2 ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง สามารถรองรับประชากรได้เพียง 5 - 8 หมื่นคนเท่านั้น

“ต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับการเติบโตของเมือง” นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ระบุ และว่า หากจะพัฒนายกระดับโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 120 - 200 เตียง ตามปกติต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีศักยภาพ

1

นั่นจึงต้องผลักดันให้ดำเนินการในรูปแบบ PPP ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่มีการลงทุนในลักษณะนี้

นายสาธิต กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะเป็นการร่วมทุนประเภท Build-Transfer-Operate (BTO) คือ เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนก่อสร้างทรัพย์สินสำคัญ และโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐทันทีหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยจะได้รับการสนับสนุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเทียบเคียงกับสิทธิประโยชน์ของ BOI อาทิเช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น 

ทั้งนี่ จะเปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จากนั้นเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก เจรจาสัญญา อนุมัติผลคัดเลือก และลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566

อนึ่ง สธ. จะส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารผ่าตัด-อุบัติเหตุ 5 ชั้น วงเงิน 232 ล้านบาทให้ภาคเอกชนก่อสร้างอาคารบริการเพิ่มเติม พร้อมทั้งประสานหน่วยงานประกันสุขภาพให้รับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. 

1

ส่วนภาคเอกชน จะตกแต่ง ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม สาธารณูปโภคต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และโอนคืนให้ สธ. พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ บุคลากร เพื่อให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหายทางการแพทย์

รมช.สธ. ย้ำว่า โครงการนี้ ถือเป็นต้นแบบการขยายโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขด้วยวิธี PPP มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,647 ล้านบาท ทำให้ประชาชนมีสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการให้บริการในสาขาต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน ได้ในราคาที่เหมาะสม สะดวก รวดเร็ว รวมถึงรองรับบริการกรณีมีภัยพิบัติ หรือโรคระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ยังสร้างผลประโยชน์ทางการเงินแก่ภาครัฐ ตลอดระยะเวลาโครงการ 50 ปี จำนวน 3,684.51 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 1,033.68 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้จากภาคเอกชน 2,650.83 ล้านบาท