ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านไปนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งกับ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของคนไทย  เพราะมี “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก” ตรงกับวันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปี 

ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันร่วมกับสหประชาชาติในการกำหนดวันดังกล่าว เพื่อกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้กับนานาประเทศเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้ประชาชน สร้างโลกที่ดีกว่าเดิมที่ทุกคนจะสามารถมีสุขภาพดีโดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานะทางการเงิน  

ในปี 2565 นับเป็นปีที่มีความพิเศษ ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เดินมาครบรอบ 20 ปี เท่ากับอายุของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2545 โดยมีบทบาทและหน้าที่บริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

1

จนถึงวันนี้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้พัฒนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่ความเป็น “รัฐสวัสดิการ” ที่มีกลไกการบริหารจัดการและการเงินเข้มแข็ง สามารถดูแลสิทธิสุขภาพคนไทยมากกว่า 47 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของประชากรประเทศ ทั้งยังทำให้ไทยอยู่ในแถวหน้ากลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย   

ด้วยความสำเร็จนี้ทำให้นานาประเทศตั้งคำถามว่า “ไทยทำได้อย่างไร?” โดยเฉพาะในช่วงกำเนิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 และต้องเร่งฟื้นฟู แน่นอนว่าความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าคือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดการวางแผนทางนโยบายที่ดี การออกแบบกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมจากประชาชน 

2

แรกเริ่มในการระดมสมองเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ร่วมผลักดันได้มุ่งเน้นความแข็งแกร่งใน 3 ประเด็นหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่ ความครอบคลุมประชากร ความครอบคลุมบริการสุขภาพ รวมถึงกลไกการเงิน ซึ่งในความครอบคลุมนี้ ระบบจะต้องครอบคลุมประชาชนทุกคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ และต้องครอบคลุมบริการที่จำเป็นสำหรับทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่สุขภาพแม่และเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ วัคซีน โรคทั่วไป ไปจนถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่าง เอชไอวี/เอดส์ ไตวาย มะเร็ง และการผ่าตัดเฉพาะทาง ขณะที่ด้านการเงินจะต้องเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้รับบริการ 

ทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้ จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นหัวใจในการรุกก้าวของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในระหว่าง 2 ทศวรรษมานี้ สปสช. ได้พัฒนาการบริหารจัดการและสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ สถานการณ์สุขภาพที่เปลี่ยนแปลง และความต้องการบริการสุขภาพใหม่ๆ รวมถึงวิกฤตโรคระบาดที่ไม่คาดฝัน 

3

สำหรับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นับเป็นสถานการณ์ที่ได้ตอกย้ำว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความพร้อมในการรับมือทุกวิกฤตสุขภาพ โดย สปสช. ได้ปรับวิธีบริหารจัดการและรูปแบบการจ่ายเงินที่เหมาะสมทำให้ประชาชนยังคงเข้าถึงบริการสุขภาพได้ เช่น สนับสนุนการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ดึงร้านยามาดูแลผู้ป่วยโควิด และการขยายบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นต้น  

พร้อมกันนี้ สปสช. ได้ใช้โอกาสนี้จัดทำแผนยกระดับบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ โดยดึงคลินิกเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนให้มากขึ้น ร่วมกับเดินหน้า 30 บาทรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ทำให้ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการปฐมภูมิในทุกหน่วยบริการภายใต้ระบบได้ ไม่ถูกจำกัดจุดรับบริการเฉพาะที่หน่วยบริการที่ลงทะเบียนอย่างในอดีต ช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น      

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันนี้ เราเชื่อมั่นว่าสามารถเกิดขึ้นที่ประเทศอื่นได้เช่นกัน โดยวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นโอกาสที่ดี ทำให้นานาประเทศที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงหันมาเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพที่เข้มแข็งให้กับประชาชนสู่คุณภาพชีวิตที่ดี   
 

4