ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้บริหารองค์การอนามัยโลก เสนอนานาประเทศเร่งยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะยาว


เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.พูนาม เคทตราปาล ซิงห์ (Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health organization) สำนักงานเอเชียตะวันออก-ใต้ ได้เขียนบทความแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก โดยนำเสนอว่า การระบาดของเชื้อโควิด 19 ผลักดันให้นานาประเทศปรับปรุงคุณภาพของบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย และการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งชุมชนและสถานพยาบาลดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในระหว่างการรักษาผู้ป่วย

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลอย่างเข้มข้น ทำให้ตระหนักถึงการทำแนวทางและข้อตกลงด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เอง ซึ่งเริ่มจากแนวทางเบื้องต้นอย่างการล้างมือ ไปจนถึงตรวจเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

พญ.พูนาม กล่าวว่า ความตระหนักนี้สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพบริการ ประกอบกับการขยายความครอบคลุมและการเข้าถึงบริการ

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยในประเทศรายได้น้อยและปานกลางประมาณ 5.7-8.4 ล้านคน เสียชีวิตจากการรับบริการสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน โดย 60% ของการเสียชีวิตนี้เกิดจากบริการสุขภาพที่มีคุณภาพต่ำ 40% เกิดจากความไร้ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในระบบสุขภาพ

ผู้ป่วย 15 ใน 100 คนประสบการติดเชื้อในระหว่างการเข้ารับบริการสุขภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วย 1 ใน 10 รายเสียชีวิต การติดเชื้อนี้ส่วนมากเกิดจากมือไม่สะอาด เป็นผลมาจากสถานพยาบาลไม่ตระหนักถึงอนามัยและความสะอาดของน้ำและการกำจัดขยะ

นอกจากนี้ การเข้ารับบริการทางการแพทย์ทำให้เกิดความสูญเสียทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทในแต่ละปี ขณะที่การบริการที่ไม่ปลอดภัยและคุณภาพต่ำนำไปสู่การสูญเสียประมาณ 47-54 ล้านล้านบาทในประเทศรายได้น้อยและปานกลางแต่ละปี

ในปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-ใต้และทั่วโลกไม่สามารถทำตามเป้าหมายยกระดับอนามัยและความสะอาด ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้อย่างน้อย 60% ของสถานพยาบาลทั่วโลกมีระบบการันตีอนามัยและความสะอาดภายในปี 2565

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก-ใต้ประกอบด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์เลสเต

แต่ก็มีความก้าวหน้าอยู่บ้าง โดย 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-ใต้ที่กำลังทดลองใช้เแนวทางการสร้างอนามัยและความสะอาด ที่เสนอโดยองค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund หรือ UNICEF)

ประเทศในภูมิภาคนี้เกือบทั้งหมด มียุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือการส่งเสริมบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ ผู้ตัดสินใจทางนโยบายในประเทศเหล่านี้ได้พยายามบูรณามาตรการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วย เข้าสู่โครงการรักษาและโรคเฉพาะด้าน รวมทั้งมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของบริการสุขภาพ

อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายหลายด้าน เช่น ขาดการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ขาดงบประมาณสนับสนุน มีโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือไม่เพียงพอ มีระบบกำกับและติดตามที่ขาดประสิทธิภาพ และขาดการเชื่อมต่อนโยบายจากระดับชาติสู่ระดับชุมชน โดยเฉพาะในระบบบริการปฐมภูมิ

พญ.พูนาม เสนอว่า เรื่องนี้มีทางออก ผู้ตัดสินใจทางนโยบายสามารถเพิ่มความเข้มข้นปฏิบัติการในหลายประเด็น

หนึ่ง เริ่มจากสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของคุณภาพการบริการ ความปลอดภัยของผู้ป่วย การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โดยทำแนวทางการปฏิบัติและข้อตกลงที่นำไปสู่การปฏิบัติในสถานพยาบาล ฝ่ายการเมืองควรจะให้คำมั่นสัญญาเดินหน้ายกระดับคุณภาพการบริการ เพราะมันจะปกป้องทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ จากความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้

สอง สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียในระบบบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ผู้ให้บริการภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน รวมทั้งสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้ป่วย ให้เห็นความสำคัญของสิทธิผู้ป่วย และการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้อที่กำหนดโดยสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

สาม สร้างธรรมาภิบาลด้วยการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ช่องว่างและปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขในการให้บริการสุขภาพ การมีข้อมูลยังทำให้ฝ่ายนโยบายลงทุนด้านสุขภาพได้ถูกที่

สี่ สร้างการเรียนรู้และนวัตกรรม โดยเฉพาะในการบริการปฐมภูมิ ซึ่งมักเผชิญปัญหาเฉพาะด้าน ตามลักษณะพื้นที่ จำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่คิดนอกกรอบ และควรสนับสนุนให้สถานพยาบาลแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ

พญ.พูนาม สรุปในตอนท้ายว่า ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นเรื่องของทุกคน และไม่สามารถรอได้ การลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการและสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจะมีความคุ้มค่าในระยะยาว

อ่านบทความฉบับเต็มที่:
https://www.who.int/southeastasia/news/opinion-editorials/detail/prioritize-patient-safety-in-quest-to-achieve-universal-health-coverage