ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษาสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เผย ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายมากกว่า-ภาครัฐสนับสนุนงบฯ น้อยกว่า ‘สิทธิบัตรทอง-ข้าราชการ’ แต่ได้บริการทันตกรรมด้อยกว่า เชื่อ สปส. ทำให้เท่าเทียมกันได้ แค่ต้องใช้เวลา


นายประทีป โมวพรหมานุช ที่ปรึกษาสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบจำนวน 3-5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนทุกเดือน เพื่อให้ได้รับบริการการรักษาพยาบาล ขณะที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และสวัสดิการข้าราชการ กลับได้รับการรักษาฟรี

มากไปกว่านั้น ประกันสังคมยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในเรื่องนี้น้อยกว่าคนในสิทธิ บัตรทอง และข้าราชการ ด้วย แต่ทว่าในด้านทันตกรรมกลับได้รับบริการที่ด้อยกว่า เนื่องจากมีการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายไว้ที่ 900 บาทต่อปี

นายประทีป กล่าวว่า แม้ไม่มีเอกสารชี้แจงชัดเจนทั้งใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 หรือระเบียบข้อบังคับในการเบิกจ่าย แต่มักมีคำกล่าวออกมาเองเสมอเมื่อมีภาคีเครือข่ายต้องการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับในประเด็นนี้ ว่าบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนเป็นเพียง “ของแถม” ไม่ใช่สิทธิการรักษาพื้นฐานของผู้ประกันตน กระนั้น ที่ผ่านมาทาง คปค. ก็พยายามผลักดันโดยยึดเอาข้อเรียกร้องว่าบริการทันตกรรมสำหรับผู้ประกันตนจะต้องเป็นสิทธิรักษาไม่ใช่แค่ของแถมมาโดยตลอด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตอบสนองในข้อเสนอนี้

“ผู้ประกันตนบางส่วนมองว่าบริการทันตกรรมที่ตนเองได้รับดีกว่าคนสิทธิอื่นๆ เพราะสามารถเข้าคลินิกเอกชนได้ แน่นอนว่าถ้าความสะดวกนั่นถือเป็นข้อดี แต่เป็นเพียงข้อเดียว เพราะจริงๆ แล้วบอกได้เลยว่าในแง่บริการทันตกรรมด้อยกว่าสิทธิอื่นมาก ถ้าทำอะไรเกี่ยวกับฟันที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ก็ต้องจ่ายเองทั้งหมด” นายประทีป ระบุ

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า การที่ สปส. ยังไม่ทำให้บริการทันตกรรมของผู้ประกันตนเท่าเทียมกับทั้ง 2 ระบบ (บัตรทอง, สวัสดิการข้าราชการ) อาจเป็นเพราะคิดว่าวงเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาล 0.88 เปอร์เซ็นต์ที่หักจากเงินสมทบ 3-5 เปอร์เซ็นต์ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายทุกเดือนจะไม่เพียงพอต่อการเพิ่มสิทธิประโยชน์ หรือหากเอาไปรวมกับค่าเหมาจ่ายรายหัวต่อปีสำหรับการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลคู่สัญญาจะปฏิเสธแน่นอน เพราะว่าการทำฟันมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสที่สามารถทำให้เท่าเทียมกันได้ เพียงแต่ว่าจะไม่เกิดขึ้นทันทีในเร็ววันเท่านั้นเอง จะเป็นการค่อยๆ พัฒนาไปที่ละขั้น ผ่านการผลักดันไปเรื่อยๆ เช่น เครือข่ายหนึ่งยื่นข้อเสนอไป 5 ข้อ และทาง สปส. ทำตาม 1-2 ข้อ ในครั้งถัดไปก็ต้องมีการเตรียมการให้ดีทั้งเรื่องความเหมาะสมกับการที่กองทุนจะดำเนินต่อไปได้ ควบคู่ไปกับการต่อยอดข้อเรียกร้องต่อไปจนกว่าจะได้สิทธิที่เท่าเทียมกันในที่สุด

“เราวางแผนไว้อยู่ว่ากำลังจะยื่นเรื่องนี้กับทันตแพทยสภาช่วงต้นปีหน้า โดยจุดประสงค์หลักคือต้องการให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมเท่าเทียม หรือใกล้เคียงกับสิทธิอื่นๆ เพียงเท่านั้นเอง ไม่ได้ขอให้ยกระดับสูงกว่า” นายประทีป กล่าว

นายประทีป กล่าวว่า ในปลายทางส่วนตัวต้องการให้รวมเป็นกองทุนเดียว เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่คนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม และไม่ให้เกิดการจ่ายเงินบางรายการที่อาจซ้ำซ้อน เช่น การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่หักจากเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายก็ให้ไปรวมเป็นกองกลางสำหรับพัฒนาสิทธิประโยชน์ หรือไม่ก็นำไปเป็นเงินออมให้ลูกจ้าง