ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทศบาลเมืองบ้านสวน จ.ชลบุรี จัดกิจกรรมตั้งวงดนตรีไทย-เต้นลีลาศ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผ่านการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุในอนาคต 


เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 6 ระยอง และคณะ ลงพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมโมเดลการพัฒนาคุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ชะลอชรา ชีวายืนยาว หนุนเสริมการสร้างเสริมป้องกันโรค ระดับปฐมภูมิ ซึ่งรับรางวัลพระปกเกล้า ด้านการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประจำปี 2564 และ ปี 2565 โดยมี นายวิชิต ชิตวิเศษ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านสวน และนางอาภิสรา วงศ์สละ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านสวน จ.ชลบุรี ต้อนรับและสรุป “โมเดลการพัฒนาคุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ชะลอชรา ชีวายืนยาว หนุนเสริมการสร้างเสริมป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ”

2

นายวิชิต ชิตวิเศษ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านสวน เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองบ้านสวนได้รับความร่วมมือจาก สปสช. ในส่วนของการสนับสนุนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เพื่อดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือผู้พิการ โดยนำงบประมาณจาก กปท. เข้าไปสนับสนุน เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฯลฯ 

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงานก็ได้มีการประชุมติดตามงานทุกเดือน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปัจจุบันเทศบาลเมืองบ้านสวนมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณ 17% ของจำนวนประชากร ฉะนั้นการประชุมก็จะมีการพูดคุยเพื่อป้องกัน และดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 

นายวิชิต กล่าวว่า เทศบาลจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม ทั้งด้านการอบรมให้ความรู้การดูแลสุขภาพ การฝึกทักษะด้านร่างกายและจิตใจ มีกิจกรรมที่สำคัญและดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ เล่นดนตรีไทย กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ เช่นลีลาศ บาสโลบ รำวงย้อนยุค รำผ้าขาวม้า รำไม้พลอง ฯลฯ เพื่อให้กลุ่มผู้อายุติดสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชะลอชรา ชีวายืนยาว ป้องกันหรือลดการเป็นผู้สูงอายุติดบ้านหรือติดเตียง

3

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการที่ใช้งบประมาณ กปท. และได้รับรางวัลพระปกเกล้า มีจำนวน  2 โครงการ 1. โครงการเยี่ยมบ้าน เยี่ยมใจ คนไข้ติดบ้านติดเตียง เนื่องจากพบปัญหาผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ส่วนใหญ่ไม่มีผู้ดูแล จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยประสานงานร่วมกับทีมหมอครอบครัวศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองชลบุรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสวน และทีมจิตอาสาในชุมชน ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และตัวแทนในชุมชนที่มีจิตอาสา ในการเข้าไปดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และ 2. โครงการโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation : CI) โดยได้รับการสนับสนุนจากงบ กปท. เข้ามาดูแลประชาชนในเขตเทศบาล 

“งบจาก กปท. เข้ามามีส่วนอย่างมากในการดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หรือบางอย่างที่ท้องถิ่นไม่สามารถใช้งบได้ ก็ได้งบ กปท. มาช่วย แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าระเบียบก็บังคับบางครั้ง กปท. พร้อมที่จะอนุเคราะห์หรือสนับสนุนท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีระเบียบที่ขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งในการดำเนินงานก็ได้มีการประสานกับ สปสช. ว่าเรื่องใดบ้างที่เข้าเกณฑ์การใช้งบ กปท.” นายวิชิต ระบุ 

นายชัยเดช ชิตวิเศษ ประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลเมืองบ้านสวน กล่าวว่า เดิมทีก็ได้มีการจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุ แต่ภายหลังจากได้ย้ายจากที่ทำการเดิมมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันก็ได้มีการให้ผู้สูงเขียนโครงการที่อยากดำเนินการเข้ามาเพื่อของบประมาณ แต่ก็พบปัญหาว่าผู้สูงอายุทำไม่เป็น จึงได้เปลี่ยนจากชมรมผู้สูงอายุมาเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลเมืองบ้านสวน เมื่อประมาณปี 2553 โดยจะของบจากเทศบาลมาไว้ที่ศูนย์เพื่อให้ผู้สูงอายุที่จะเขียนโครงการสามารถเขียนของบประมาณได้

3

อย่างไรก็ดี เมื่อจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นก็อยากให้ผู้สูงอายุมีการพูดคุย มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อให้เป็นการติดสังคม ทำให้เมื่อผู้สูงอายุสามารถรวมตัวกันอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเทศบาลก็จะดำเนินการขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมร่วมกัน 

“แต่ละปีจะนำผู้สูงอายุมารวมกัน 1 ครั้งเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ฉะนั้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุของเทศบาลเมืองบ้านสวนถือว่าโชคดีได้ทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน เช่น วิทยาลัยพยาบาล โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลสมิติเวชที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ ในการเป็นวิทยากรและร่วมดำเนินกิจกรรมกับเทศบาล โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่เราเน้นมากที่สุดเรื่องการบริโภคอาหาร ออกกำลังกาย และการดูแลช่องปาก” นายชัยเดช ระบุ 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบประมาณจาก กปท. เป็นงบประมาณที่ สปสช. จะนำงบประมาณจัดสรรตามรายประชากร สมทบร่วมกับงบประมาณตามสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่น ส่วนการจะใช้งบประมาณนั้นก็จะมีวัตถุประสงค์ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งการใช้งบประมาณก็จะมีคณะกรรมการท้องถิ่นโดยมีนายกเป็นประธาน และมีภาคประชาชน ข้าราชการ สาธารณสุขร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อนำปัญหาของพื้นที่มาพิจารณา ส่วนงบประมาณจะใช้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัญหาในพื้นที่ 

3

“ต้องเรียนให้ทราบว่าตอนนี้ สปสช. ปรับวิธีการอย่างที่หนึ่งถ้าท้องถิ่นทำโครงการมาเร็ว ก็จะจัดสรรงบให้เร็ว แต่ถ้าท้องถิ่นไหนยังไม่มีโครงการมา งบประมาณตรงนี้ก็ต้องขออนุญาตว่าอาจกันไว้ก่อนและเอาไปเติมให้กับท้องถิ่นที่ทำโครงการเข้ามา ฉะนั้นถ้าที่ไหนทำโครงการได้เร็วจะได้งบประมาณไปก่อน” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับที่เทศบาลเมืองบ้านสวนจะเห็นได้ว่ามีการจัดตั้งวงดนตรีผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันเพราะเมื่อมีการทำกิจกรรมร่วมกันก็จะทำให้สุขภาพจิตดี และสุขภาพร่างกายก็ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการจัดตั้งวงดนตรีก็เป็นลักษณะกุศโลบายเพราะการจะเล่นเพลงได้ 1 เพลงต้องซ้อมนานมาก ฉะนั้นในช่วงสัปดาห์ผู้สูงอายุก็จะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยน ตรงนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่แข็งแรงจากการสนับสนุนผ่านงบ กปท. 

“ก็อยากจะฝากว่าท้องถิ่นใดยังคิดไม่ออกว่าจะทำกิจกรรมอะไรในพื้นที่ลองมาดูที่บ้านสวน กิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุน่าสนใจมากๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุได้เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างจริงจัง” ทพ.อรรถพร กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ