ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เผย ปัจจุบันผู้ประกันตนต้องจ่าย 3 ต่อ ‘เงินสมทบ-ภาษี-ค่ารักษาฟัน’ ถึงได้การรักษาฟันเท่าเทียมกับ ‘บัตรทอง-ข้าราชการ’ แนะ รวม 3 ระบบ สร้างการบริการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว


น.ส.ธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า การรักษาด้านทันตกรรมของผู้ประกันตนควรที่ได้รับการรักษาตามโรคจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการกำหนดอัตราต่อปีแบบที่เป็นอยู่ เพราะตอนนี้หากผู้ประกันตนมีปัญหาสุขภาพช่องปากตามโรคที่เกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าต้องจ่าย 3 ต่อ ได้แก่ 1. จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน 2. จ่ายผ่านระบบภาษี และ 3. จ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเอง

น.ส.ธนพร กล่าวว่า ปัจจุบันอาจบอกได้ว่าผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนทุกเดือนเพื่อให้ได้บริการการรักษา ทว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับในบางรายการกลับด้อยกว่าคนในสิทธิบัตรทอง หรือสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งไม่ต้องจ่ายเงินในรูปแบบเดียวกันนี้เข้ากองทุนสุขภาพของตนเอง

ทั้งนี้ โดยเฉพาะบริการทันตกรรม ซึ่งกำหนดเพดานค่ารักษาอยู่ที่ 900 บาทต่อปี หากมีการรักษาที่มีราคาเกินกว่าอัตราดังกล่าวผู้ประกันตนต้องจ่ายด้วยตนเอง ซึ่งบางคนต้องรักษามากกว่าแค่การถอนฟัน อุดฟัน หรือขูดหินปูน รวมถึงแท้จริงแล้วแค่บริการพื้นฐานเหล่านี้จำนวนเงินที่กำหนดมาก็ไม่เพียงพอด้วยซ้ำ ขณะที่คนในสิทธิบัตรทอง หรือสวัสดิการข้าราชการสามารถรักษาสุขภาพช่องปากได้ตามโรคที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่ม

น.ส.ธนพร กล่าวต่อไปว่า โดยปกติช่วงวัยของผู้ประกันตนจะเป็นวัยแรงงาน ซึ่งไม่ค่อยมีความเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะส่วนมากช่วงวัยที่มีความเจ็บป่วยบ่อย รวมถึงค่อนข้างรุนแรงจะเป็นเด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งจะอยู่ในสิทธิบัตรทอง แต่ปัญหาด้านสุขภาพช่องปากนั้นเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย อีกทั้งแทบจะเป็นความเจ็บป่วยหลักๆ ที่วัยแรงงานเผชิญบ่อยที่สุดอีกด้วย รวมถึงจะส่งผลในระยะยาวอีกด้วย แต่บริการที่ได้รับกลับไม่สอดคล้อง

“การรักษาคือต้องทำให้ฟันยังอยู่ ไม่ใช่ปล่อยไว้เพราะรักษาไม่ได้จนต้องถอนออกทั้งหมด แบบนั้นพอแก่ตัวไปก็จะกลายอีกปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นอีก ถ้าพูดถึงสุขภาพปากไม่ควรจะมีการกำหนดเงื่อนไขอะไรแบบนี้

“ที่จริงไม่ควรมีสามกองทุนด้วย ทำไมต้องมีคนมาตั้งคำถามว่าสิทธิสวัสดิการข้าราชการถึงดีกว่าบัตรทอง หรือประกันสังคม ทำไมเราไม่ยกระดับกองทุนบัตรทอง และกองทุนประกันสังคมให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ” ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุ

น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า ในอนาคตสิทธิการรักษาพยาบาลควรจะทำให้เป็นระบบเดียว ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ทั้งของประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการก็ยังให้ดำเนินต่อไป เช่น เงินบำนาญ เพราะคนทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐที่จะสนับสนุนและทำให้คนไทยทุกคนให้เข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม และเป็นมาตรฐานเดียว หรือในระยะสั้นควรมีการทำให้สิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมให้เทียบเท่ากับระบบบัตรทอง หรือรวม 2 ระบบให้เป็นระบบเดียวก็ได้ และให้เอาเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายทุกเดือนในด้านการรักษาพยาบาลเปลี่ยนไปเป็นเงินออมชราภาพแทน