ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เร่ง สปส. ปรับปรุงสิทธิทำฟัน - สิทธิรักษาสุขภาพ เบิกจ่ายตามจริง ให้เท่าเทียมสิทธิข้าราชการและระบบบัตรทอง ชี้การจำกัดสิทธิประโยชน์การเบิกจ่าย ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลไม่เต็มที่ สุดท้ายต้องสำรองจ่ายก่อน


จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ส่งหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยเรียกร้องให้ สปส. มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ด้านการรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม กรณีสิทธิรักษาสุขภาพในช่องปาก ให้เท่าเทียมกับระบบบัตรทองนั้น

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับหนังสือตอบกลับจาก สปส. กรณีข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านการดูแลสุขภาพช่องปากและการรักษาโรคมะเร็ง โดย สปส. มีคณะกรรมการการแพทย์และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและผลลัพธ์ของการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อนำมาพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องไม่ด้อยกว่ากองทุนสุขภาพอื่น

นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในความเป็นจริง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาโรคมะเร็ง และด้านทันตกรรมน้อยกว่าสิทธิข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เนื่องจากทั้งสองสิทธิรักษาตามสภาวะโรคจริง ไม่จำกัดวงเงิน 900 บาท ต่อปี ดังเช่นสิทธิประกันสังคมแต่อย่างใด

“การจำกัดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายภายใต้วงเงิน 900 บาท ต่อปีนั้น ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและอาจทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลไม่เต็มที่ และจำเป็นต้องจ่ายสมทบเอง” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวยังส่งผลต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่กล้าเข้าคลินิกเพราะคิดว่ามีราคาแพง ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกันตนบางรายเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่องปากด้วยเหตุที่ไม่กล้าเข้าไปรักษาเพราะปัจจัยด้านราคา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคอยู่ระหว่างการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านทันตกรรมของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้ทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ