ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพในประเทศไทย และการแสวงหาหนทางถมช่องว่างนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริง ได้รับการหยิบขึ้นมาพูดจากเบอร์หนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการปาฐกถาพิเศษในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.2565 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี

ปาฐกถาพิเศษของนายอนุทิน มีชื่อว่า "ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งสะท้อนถึงผลการทำงานที่ผ่านมาของคนที่เกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุข ที่เคลื่อนงานบนฐานแนวคิดและเป้าหมายเดียวคือ "ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ที่เป็นหลักการสำคัญใน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3

1

เชื่อมือและพร้อม อนุมัติ

นายอนุทิน เปิดปาฐกถาด้วยคำชื่นชมต่อสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภาคีเครือข่าย สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ร่วมกันจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ขึ้นมาอย่าง "มีคุณค่าและมีความหมาย" ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และทำให้ได้เห็นตัวเองว่า พวกเราคือกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ

นายอนุทิน ให้ภาพการทำงานสาธารณสุขของตัวเอง จากแรกเริ่มเมื่อ 15 ปีก่อน ได้เข้ามาทำงานในฐานะ รมช.สธ. ซึ่งทำให้ได้พบกับบุคลากรสาธารณสุขหลายคน ทั้ง นพ.วิชัย โชควิวัฒน, นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา และยังมีบุคคลสำคัญอีกหลายท่านที่เอ่ยนามไม่หมด ทั้งหมดคือความโชคดีของตัวเองที่เคยทำงานร่วมกันมากับบุคลากรที่เรียกได้ว่าเป็น ‘สุดยอดของวงการสาธารณสุขในประเทศไทย’

กระทั่งในปี 2562 ที่ได้มาเป็น รมว.สธ. ซึ่งเข้ามานั่งเป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นบอร์ดสุขภาพที่สร้างประโยชน์ในทุกมิติให้กับคนไทย และได้เข้ามาร่วมทำงานกับภาคีเครือข่าย และสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้สุขภาพดีขึ้นไป ก็ยิ่งภาคภูมิใจ และเห็นถึงความแข็งขันของทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมทำงาน

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า เมื่อก้าวเข้ามาเป็น รมว.สธ. ก็อุ่นใจ และสบายใจทันที เพราะเห็นถึงการทำงานของคนระดับปรมาจารย์ในวงการแพทย์ ที่มีความรู้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องการแพทย์ แต่ยังเข้าใจสังคม เข้าใจถึงการทำงานของระบบสุขภาพทั้งระบบ เพราะเรื่องสุขภาพยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อมเข้าไปรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันภาคส่วนอื่นๆ ก็แข็งขันอย่างมากในการเสริมสร้างสุขภาพร่วมกัน เพราะเข้าใจกันดีว่า สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องการแพทย์ แต่เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ซึ่งทั้งหมดบ่งบอกว่าพวกเราก็คือเฟืองจักร ที่เข้ามาขับเคลื่อนให้งานสาธารณสุขดำเนินต่อไปอย่างร้อยเรียงเข้ากับมิติอื่นๆ ในสังคม

"ผมมาทำงานร่วมกันกับพวกท่านทุกคน หากเรื่องไหนที่พวกท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็แทงเรื่องขึ้นมาให้ผมอนุมัติได้เลย ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอะไร เพราะผมเชื่อมือ เชื่อในดุลยพินิจและข้อเสนอ และเชื่อว่าที่เสนอมาจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งผมไม่ลังเลที่จะบรรดาลให้เกิดขึ้น" นายอนุทิน สะท้อนความคิดเห็น

2

ความหมายของ ความเป็นธรรม

รองนายกฯ และรมว.สธ. กล่าวอีกว่า หากพูดถึงความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพ ที่เป็นธีมหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่ชื่อว่า "ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส ความหวังและอนาคตประเทศไทย" ส่วนตัวมองคำว่าความเป็นธรรม มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะหมายถึงต้องทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำถูกลดช่องว่างลง หรือที่เข้าใจคือ ทุกคนควรจะได้รับ สิ่งที่ตัวเองมีสิทธิ์จะได้รับ ซึ่งเป็นสิทธิปัจเจกบุคคล โดยไม่มีบกพร่อง

ดั่งเช่นในปฏิญญาสากล จากสหประชาชาติ ในประเด็นคุณภาพชีวิตที่ดี ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาทางแพทย์ และบริการทางสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกัน ยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่น ในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน

จากปฏิญญาสากลในบัญญัตินี้ นายอนุทิน ย้ำว่า ความชัดเจนคือสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่ยังมีปัจัยจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เช่น การมีงานทำ มีบ้านอยู่ มีมาตรฐานคุณภาพชีวิต และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น ความเป็นธรรมด้านสุขภาพต้องไม่เกิดจากบริการการรักษาพยาบาล หรือค่ายาต่างๆ ฟรีจากรัฐเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องเจ็บป่วย และดำรงชีวิตต่อไปด้วยมาตรฐานที่ดี และสิ่งเหล่านี้กำลังเคลื่อนเข้ามาในสังคมไทย

"ผมไปมาหลายประเทศ ได้รับคำชื่นชมมากถึงระบบสาธารณสุขของบ้านเรา โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ แต่คำชมก็แฝงไว้ด้วยความน่ากลัว เพราะโลกทั้งใบกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยกัน ที่สำคัญคืออายุขัยเฉลี่ยของผู้คนจะสูงขึ้น 30% แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ขยับขึ้นไปตาม หมายความว่า เราจะมีคนแก่มากขึ้น มีระบบที่ดูแลได้ แต่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องช่วยกันตอบ" นายอนุทิน สะท้อน

นายอนุทิน สำทับลงไปอีกว่า ยังไม่นับรวมถึงประเด็นของลูกหลานที่จะสบายใจจริงหรือไม่ แม้ว่าจะมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว มีระบบที่ดี แต่ผู้สูงอายุกลับติดเตียงอยู่บ้าน ดังนั้น มันจึงเกี่ยวข้องในทุกมิติ และเมื่อเกี่ยวข้องกับทุกมิติ ก็หมายความว่าทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทุกช่วงวัย

2

โควิด19 เงาสะท้อนความเท่าเทียม

ตอนหนึ่งของการปาฐกถา นายอนุทิน พูดถึงความเท่าเทียมของระบบสาธารณสุข เห็นได้จากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน เมื่อเจ็บป่วยจากโรคระบาดนี้ ก็ต้องเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด ภาพที่เห็นจากตาของนายอนุทินเอง คือ ภายในโรงพยาบาลราชวิถี เขาเห็นหญิงวัยกลางคน แต่งตัวหรูหราบ่งบอกถึงสถานะ และเขายังเห็นชายกางเกงขาด เสื้อผ้าขาดวิ่น ทั้งคู่กำลังรอคิวเพื่อเอ็กซเรย์ด้วยกัน

นั่นคือภาพของความเท่าเทียมที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ให้บริการได้อย่างถ้วนหน้า กระทั่งได้ถูกจัดอันดับจาก WHO ว่าเป็นประเทศที่มีระบบบริการสาธารณสุขดีที่สุดอันดับ 5 ของโลก เพราะเรามีระบบ มีการวางแผนที่ชัดเจนจากบุคลากรการแพทย์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลไม่ได้เพียงแค่ฉีดให้กับคนไทย แต่เราตั้งใจที่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย

"สิ่งนี้คือการลดความเหลื่อมล้ำ ที่เราได้เริ่มกันแล้ว เป็นบันไดก้าวแรกสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ขณะเดียวกัน สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ก็เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มก็คือการลดความเหลื่อมล้ำให้แคบลง พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง"

การพัฒนาระบบสาธารณสุขบนพื้นฐานความเป็นธรรมและถ้วนหน้าให้มีความต่อเนื่อง นายอนุทิน ย้ำว่าคือความเชื่อมั่นจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้สังคมและทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความมั่นคงที่มาจากความเป็นธรรมทางสุขภาพ กระทั่งมาถึงทุกวันนี้ ที่มั่นใจได้เลยว่า ไม่มีโรคไหนที่คนไทยจะต้องควักเงินจ่ายเพื่อรักษาตัวเอง

เพราะระบบสาธารณสุขไทย เป็นเพียงแค่ 'ไม่กี่สิ่ง' ที่ประเทศไทยสามารถเอาไปอวด เอาไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้ และยังเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับทั้งโลกได้เรียนรู้และศึกษา เพื่อให้เดินตามระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

กระนั้น นายอนุทิน ย้ำว่า สิ่งที่โลกชื่นชมและจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ไม่ได้สร้างความยินดีให้กับตัวเอง เพราะเห็นการทำงานของแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร และทุกๆ คนที่เข้ามาร่วมวงช่วยประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด 19 อย่างแข็งขัน และไม่ย่อท้อ อันดับเดียวที่ให้ได้คือ อันดับ 1 ของโลกเท่านั้น

เพราะหมอ พยาบาล ก็ยอมติดเชื้อกับคนไข้ และปิดแผนกเพื่อรักษาตัวด้วยกัน และอยู่ด้วยกัน เมื่อผมไปถามประเทศอื่นๆ ว่ามีแบบนี้หรือไม่ ตอนที่โควิด 19 ระบาดหนัก เขาบอกไม่มีเลย ถ้าหมอ พยาบาลป่วย ก็ให้หยุดหาคนมาแทน แต่เรามองถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ที่ติดเชื้อก็ต้องได้รับการรักษาจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่คนประเทศอื่นให้อยู่บ้านเฉยๆ และอย่าตาย เพราะไม่มียา และไม่มีหมอดูแล ประเทศไทยแม้ว่าโรงพยาบาลจะล้นแล้ว ก็ยังมีโรงพยาบาลสนาม เมื่อล้นอีกก็มีศูนย์กักตัวในชุมชน และในบ้าน ซึ่งประเทศไทยคือ 1 เดียวในโลกที่มีระบบรองรับทั้งหมด

3

สร้างค่านิยม 'ขี้เกียจป่วย ขยันแข็งแรง

นายอนุทิน กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยอาจจะมีเครื่องฉายรังษีรักษามะเร็งในทุกจังหวัด แม้ว่าผู้บริหาร สธ.ให้คำแนะนำว่า เป็นไปได้ยาก เจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการรักษากับประชาชน แต่ตนมองว่า หากมีเครื่องมือ ก็จะมีแพทย์ และในเมื่อมีผู้ป่วยมะเร็งอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งก็มีความต้องการที่จะใช้บริการอยู่แล้ว ดังนั้น หากมีเครื่องฉายรังษีอยู่ทุกจังหวัด ก็จะเป็นการเอาความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์ไปอยู่ใกล้ประชาชนมากขึ้น สิ่งนี้คือการพัฒนาของระบบการแพทย์ ที่จะเพิ่มขึ้น

"แต่เราจะเอาแบบนี้เหรอ เราทำไหวเหรอ หากประเทศไทยเต็มไปด้วยผู้ป่วย และเต็มไปด้วยระบบที่พร้อมรักษาผู้ป่วย คำตอบคือไม่มีทางที่จะทำงานไหว หากเรายังไม่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน ต้องทำให้ประชาชนทุกคนขี้เกียจป่วย และขยันที่จะแข็งแรง แต่เมื่อจำเป็นต้องป่วย ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างดี ได้รับบริการที่ดีที่สุดจากภาษีที่ได้จ่ายไป และได้สิทธิที่เกิดมาเป็นคนไทย ที่จะได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีตลอดช่วงอายุ" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน สานต่อว่า จึงเป็นที่มาของบรรดา 'ตระกูล ส.' ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น ที่เป็นตระกูล ส. ที่ทำหน้าที่วิจัย และพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติของสังคม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยอย่างที่คนไทยได้มีส่วนร่วม

"ความสำคัญของ ตระกูล ส. จึงสำคัญอย่างมาก แต่อยากให้รวมอีก ส. คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าไปด้วย และอยากให้เป็น ส.เดียวกัน คือ ส.สาธารณสุข ที่เราได้ตกลงร่วมกันทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนว่า เราจะไม่ถอยหลังในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทุกคน ผมไม่ถอยแล้วเพราะทุุกคนอยากจะเดินหน้าไปสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ และต้องการให้เป็นอนาคตของประเทศอย่างแน่วแน่และชัดเจน"

ตอนท้ายของปาฐกถา นายอนุทิน ย้ำกับทุกคนว่า ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ จะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความหวัง ซึ่งเป็นความหวังที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยต่อเวทีโลก ที่จะแสดงให้ได้เห็นว่าอนาคตของประเทศไทยจะต้อง 'ดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้' ผ่านความเชื่อมั่นของพวกเรา ที่มุ่งสร้างอนาคต สังคมที่ดีกว่าเดิม พร้อมกับส่งมอบส่งดีๆ ให้ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น