ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรผู้ให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนแล้ว พบส่วนใหญ่ต้องปรับตัว และต้องการให้มีกำลังคนและทรัพยากรเพิ่มขึ้น ส่วนค่าตอบแทนที่ได้รับหลังการถ่ายโอนและการบริการจัดการของหน่วยงานใหม่ พบร้อยละ 30 เริ่มผิดหวังที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ และเริ่มพบผลกระทบการให้บริการประชาชน  


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน MIU (คณะอนุกรรมการฯ ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา HITAP และทีมวิจัย MIU พบว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการถ่ายโอน สอน./ รพ.สต. ให้กับ อบจ. ไปแล้ว 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด คณะอนุกรรมการฯ จึงได้สำรวจความเห็นของผู้ให้บริการใน สอน./รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปในประเด็นความเพียงพอของกำลังคน ทรัพยากร รวมถึงการสื่อสาร การประสานงาน ความสุขในการทำงาน และความคาดหวังในอนาคต เพื่อให้ทราบจุดแข็ง ปัญหา/อุปสรรค และความต้องการการสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนานโยบายให้มีประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยทำการสำรวจช่วงเดือน ธันวาคม 2565 – มกราคม 2566 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นบุคลากร ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข และอื่นๆ จำนวน 780 คน ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ พบว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังต้องมีการปรับตัวหลังการถ่ายโอนสังกัด และต้องการให้สนับสนุนกำลังคนและทรัพยากรเพิ่มขึ้น ส่วนประเด็นด้านค่าตอบแทนที่ได้รับหลังการถ่ายโอน พบผู้ให้บริการร้อยละ 30 เริ่มรู้สึกผิดหวังที่ค่าตอบแทนและการบริหารจัดการของหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ สำหรับประเด็นด้านการประสานงานกับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 33.76 ระบุ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พบเพียงร้อยละ 35.6 ระบุ สามารถเสนอข้อคิดเห็นหรือตั้งคำถามต่อการตัดสินใจ และพบบุคลากรไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 44.67) ที่ยังมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน 

นอกจากนี้ พบว่ามีผู้ที่ต้องการให้หน่วยงานย้ายกลับไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงร้อยละ 28.46 เนื่องจากไม่ชินกับระบบใหม่ มีรายละเอียดการทำงานมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ลดลง รวมถึงมีขั้นตอนการจัดสรรและการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความยุ่งยากซับซ้อน 

 สำหรับการสำรวจประชาชนผู้รับบริการ จากการลงพื้นที่ศึกษา พบผลกระทบการให้บริการประชาชน เช่น ต้องให้ผู้ป่วยเดินทางไปทำแผลที่โรงพยาบาลชุมชน จากเดิมรับบริการได้ที่ รพ.สต., มีปัญหาการให้บริการด้านทันตกรรม ซึ่งเกิดจากการขาดบุคลากร, ขาดการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยพบว่าการบริการในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังดำเนินการได้เป็นเพราะหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขระดับพื้นที่ให้การสนับสนุนภารกิจที่มีการถ่ายโอนไปแล้วแก่ รพ.สต. 

อย่างไรก็ตาม อบจ. และ รพ.สต. ที่รับการถ่ายโอนต้องเร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการ จัดทำแผน จัดหาทรัพยากรเพิ่มเติม โดยเฉพาะกำลังคน รวมถึงกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ

 ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีกำหนดเวลาเก็บข้อมูลถึงต้นเดือนมกราคม 2566 ผลสรุปการวิเคราะห์จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจในอนาคต ดังนั้น จะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเมื่อได้ตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น เปรียบเทียบความเห็นตามลักษณะงานและสภาพการจ้างงาน รวมทั้งจำแนกผลการสำรวจตามเขตพื้นที่ เป็นต้น และจะใช้ประกอบกับข้อมูลประเมินผลการกระจายอำนาจอื่นๆ ซึ่งการศึกษาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การบริหารจัดการ ให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจด้านการจัดบริการสาธารณสุขที่ดีต่อไปในอนาคต