ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่อง “Extracorporeal Membrane Oxygenator” หรือเครื่อง “เอคโม่ (ECMO)” ได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเครื่องที่ว่านี้เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพยุงการทำงานของปอดหรือหัวใจหากเกิดภาวะล้มเหลว ทั้งในกรณีปกติและเฉียบพลัน

ชื่อเรียกที่มักจะคุ้นกันคือ “ปอดเทียม หัวใจเทียม”

สำหรับการทำงานของเครื่องเอคโม่นั้นจะใช้ร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือปอด รวมไปถึงโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ โดยจะทำหน้าที่นำเลือดผู้ป่วยออกมาฟอกด้วยการเติมออกซิเจน และขับคาร์บอนไดออกไซด์จากนั้นจะส่งกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย

ทว่าเมื่อการทำงานที่เปรียบเสมือนหัวใจและปอดเทียมทำให้เครื่องมือชนิดนี้มีราคาที่สูงลิ่ว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนิ่งนอนใจในการพิจารณาเครื่องมือสำคัญที่มีความจำเป็นในการช่วยชีวิตผู้ป่วย

ในปี 2564 เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพิจารณาเข้าสู่ “ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อมูลจากรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการใช้เครื่องเอคโม่ในการรักษาภาวะหัวใจ และหรือปอดล้มเหลวเฉียบพลันให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ซึ่งจัดทำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2563 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า …

2

สิทธิการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐในประเทศไทย (สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง) มีเพียง “สิทธิข้าราชการ” เท่านั้นที่สามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยที่ใช้เครื่องเอคโม่ได้ ในขณะที่ระบบบัตรทองจะอยู่ในระบบการเบิกจ่ายกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs)

จากฐานข้อมูลของระบบการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลของกรมบัญชีกลางในหมวดอัตราอุปกรณ์อวัยวะเทียม สามารถเบิกจ่ายชุดสายยางและปอดเทียมชนิดใช้ภายนอก ใช้ร่วมกับเครื่องช่วงพยุงการทำงานของปอดและหัวใจชนิดภายนอก ในราคาไม่เกิน 8 หมื่นบาทต่อชุด

ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขณะนั้นเห็นถึงความสำคัญของการให้บริการเครื่องเอคโม่สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบ แต่ก็พบการร้องเรียนและขอความอนุเคราะห์สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวเพราะมีราคาที่สูง ประกอบกับการเบิกจ่าย DRGs ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงได้

ผลจากการประเมินโดยใช้วิธีทบทวนวรรณกรรมแบบเร่งกระบวนการ (Rapid Review) พบว่าประเทศไทยมีแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการให้บริการเอคโม่ จากสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยทั้งกรณีผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งส่วนนี้ก็ได้พบวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เครื่องเอคโม่ในหลากหลายประเทศ และพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเอคโม่ หากเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับนั้นมีอัตรารอดชีวิตในภาพรวมโดยประมาณร้อยละ 33-62.9

สำหรับประเทศไทยพบรายงานที่เกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้งานเครื่องเอคโม่เพื่อพยุงการทำงานของปอดและหัวใจใน พ.ศ. 2557-2561 ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยผู้ป่วยผู้ใหญ่พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตจากการได้รับการรักษาอยู่ที่ร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้

นอกจากนี้แล้ว จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล e-Claim จากสถานการณ์การให้บริการเครื่องเอคโม่ พ.ศ. 2560-2562 พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการบริการจากเครื่องเอคโม่ มีจำนวนมากขึ้นทุกปี และมีต้นทุนการรักษาของโรงพยาบาล 7 แสนบาทต่อครั้ง ซึ่งได้รับการจ่ายคืนจาก สปสช. เฉลี่ย 1.9 แสนบาทต่อครั้ง

จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล สำรวจข้อมูล และประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้บริการดังกล่าวเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ทำให้ใน “การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 เห็นชอบเพิ่มรายการอุปกรณ์เอคโม่สำหรับการรักษาภาวะหัวใจและหรือปอดล้มเหลวเฉียบพลันเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง” โดยมีความพร้อมของระบบบริการซึ่งมีเครื่องเอคโม่ครบทุกเขตสุขภาพ ครอบคลุม 26 จังหวัด ในโรงพยาบาลรัฐ 87 แห่ง

นอกจากนี้ ยังได้มีการประกาศค่าบริการกรณีเฉพาะ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายราชอุปกรณ์สำหรับเครื่องเอคโม่ในการรักษาภาวะหัวใจ และหรือปอดล้มเหลวเฉียบพลัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนดเป็นจำนวนเงิน 26.6000 ล้านบาท ตามที่ได้ลงไว้ในประกาศราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ที่มา : https://www.hitap.net/181238
https://www.hitap.net/wp-content/uploads/2022/02/Report_ECMO_F-for-website.pdf
https://www.nhso.go.th/board_resolution/1332
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/052/T_0012.PDF