ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทย์ ชี้ ระบบประกันสังคม-บัตรทอง เหลื่อมล้ำทับซ้อนหลายเรื่อง ‘สิทธิประโยชน์-การเข้าถึงบริการ-เศรษฐฐานะ’ ทับถม ‘ผู้ประกันตน’ ยิ่งจนยิ่งรับการรักษายาก แนะ สปส. ให้ทางเลือกผู้ประกันตน เลือกใช้ ‘สิทธิบัตรทอง’ ได้


ทพ.วัฒนา ทองปัสโณว์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปาก เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กับระบบประกันสังคม มีความเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันอยู่หลายเรื่อง ทั้งสิทธิประโยชน์ การเข้าถึงบริการ และเศรษฐฐานะ (ฐานะทางเศรษฐกิจ) ของประชากรในแต่ละระบบ โดยส่งผลให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย ซึ่งแม้ในภาพรวมจะมีการเข้าถึงและอัตราการเข้าใช้บริการที่ดีกว่าคนในสิทธิบัตรทอง แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับกลับน้อยกว่า ทำให้ต้องจ่ายค่าบริการการรักษาเองเพิ่ม ทั้งที่ทุกเดือนต้องจ่ายสมทบค่าประกันสังคมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพ หากพิจารณากรณีทันตกรรม สามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. ด้านสิทธิประโยชน์ หากเปรียบเทียบทุกระบบ ระบบที่ดีที่สุด คือ สวัสดิการข้าราชการ รองลงมาเป็นบัตรทอง และท้ายสุดคือประกันสังคม ซึ่งแม้ฝั่งประกันสังคมจะบอกว่ามีความครอบคลุมบริการเหมือนกับอีก 2 ระบบ เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ฯลฯ ทว่า เป็นระบบเดียวที่กำหนดเพดานค่าบริการการรักษาไว้ที่ 900 บาทต่อปี

2. การได้ใช้บริการการรักษาจริง ถ้าดูจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ซึ่งทำทุก 2 ปี จะเห็นว่าประชากรที่ได้ใช้บริการสูงที่สุด เป็นข้าราชการ รองลงมาเป็นผู้ประกันตน และสุดท้ายคือคนสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนอีกเรื่องหนึ่ง

ทพ.วัฒนา กล่าวอีกว่า หากดูในมิติความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องดูไปถึงเศรษฐฐานะของประชากรทั้ง 3 ระบบด้วย เนื่องจากรายได้ของคนแต่ละกลุ่ม มีผลต่อการเข้าถึง และใช้บริการอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยคนที่มีรายได้น้อยจะมีปัจจัยและการเข้าถึงข้อมูลความรู้ไม่มากเท่าคนที่มีรายได้ปานกลางและสูง รวมถึงวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการ เช่น คนจนมีรายได้ 300 บาทต่อวัน ถ้าต้องลางานเพื่อไปรักษาอาจจะไม่คุ้มค่าสำหรับเขา

“ถ้าดูที่สิทธิประโยชน์ทันตกรรม คือ ประกันสังคมจะด้อยกว่าบัตรทอง เพราะได้ 900 บาทต่อปี ยิ่งผู้ประกันตนที่จน กลายเป็นกลุ่มที่ต้องรับภาระหนักที่สุด บางทีต้องแบ่งการรักษาเป็นรายปี เช่น เมื่อครบตามจำนวน 900 บาทในปีหนึ่งๆ ก็ต้องชะลอการทำฟันไปใช้สิทธิปีหน้า เพราะไม่มีความพร้อมจะจ่ายเงิน ขณะที่บัตรทองสามารถรักษาได้ตามความจำเป็นของสุขภาพช่องปาก ถึงแม้ไปดูเรื่องการได้ใช้บริการประกันสังคมก็จะดีกว่าบัตรทองก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโดยเฉลี่ยแล้วประชากรสิทธิประกันสังคมจะมีรายได้และเศรษฐานะสูงกว่าบัตรทอง” ทพ.วัฒนา ระบุ

ทพ.วัฒนา กล่าวต่อไปว่า การจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ อย่างแรกต้องดูว่าจะปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพระบบใด เช่น ระบบประกันสังคม ก็ควรต้องขยายสิทธิประโยชน์ แต่ถ้า สปส. คิดว่างบประมาณจะไม่พอ ควบคุมงบไม่ได้ ก็ควรพิจารณาศึกษากลไกจ่ายแบบอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพและเอื้อให้คนเข้าถึงบริการ  ตอบโจทย์มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือการเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ประกันตนเลือกใช้บริการด้านการรักษาในระบบบัตรทองได้ ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนที่รายได้น้อยเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม

ส่วนระบบบัตรทองที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการ ควรจะเพิ่มคลินิกเอกชนให้มาร่วมบริการในระบบให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้หลายภาคส่วนกำลังมีการขับเคลื่อนกันอยู่ ทว่าต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระทางงบประมาณให้กับระบบบัตรทองจนคุมไม่ได้ แต่กระนั้นในระยะยาวควรจะดำเนินไปตามแนวทางนี้ เนื่องจากภาคเอกชนจะมีการจัดการ และการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

“ในเชิงการขับเคลื่อนการที่ไม่พูดถึงระบบสวัสดิการข้าราชการ เพราะระบบสวัสดิการข้าราชการได้ทั้งสิทธิประโยชน์ที่ดี ทั้งการเข้าถึงบริการที่ดี ดีหมดอยู่แล้ว ดังนั้นก็ต้องมาดู 2 ระบบที่เหลือแทนว่าประกันสังคมขาดอะไร บัตรทองขาดอะไร” ทพ.วัฒนา กล่าว