ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานพร้อมทบทวนคณะอนุกรรมการให้เหมาะสม ยืนยันการถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ไป อบจ. ไม่กระทบนโยบาย 3 หมอ “อนุทิน” ยัน อสม. ยังอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัด สธ. ผู้บริหาร สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์

3

นายอนุทิน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 สธ.มีนโยบายมุ่งเน้นให้ “คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งมี” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” ซึ่งงานปฐมภูมิเป็นรากฐานและกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ และต้องอาศัยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย 1. คนไทยทุกคนทุกสิทธิสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพมาตรฐาน และเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพด้วยแนวทาง “3 หมอ” 2. การพัฒนาระบบสารสนเทศสุขภาพ (Digital Health) ให้เชื่อมโยงข้อมูลบริการระหว่างหน่วยบริการ มีการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ 3. เกิดกลไกการเงินการคลังสุขภาพที่สนับสนุนการดำเนินการในระดับปฐมภูมิ มีการบูรณาการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประชาชน มีความเท่าเทียมกัน

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ในวันนี้ ได้พูดคุยในประเด็นสำคัญ อาทิ มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้แยกการจัดสรรงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) บางส่วนที่รอการพิจารณาทางข้อกฎหมาย ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดบริการประชาชน

2

ตลอดจนการพิจารณาทบทวนองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะให้เหมาะสม ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ 3. คณะอนุกรรมการคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ 4. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลบริการสุขภาพปฐมภูมิ 5. คณะอนุกรรมการกฎหมาย 6. คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองอุทธรณ์ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ 7. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรุงเทพมหานคร 8. คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ

นอกจากนี้ ยังได้รับทราบแนวทางการประสานความร่วมมือการจัดบริการตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การกระจายอำนาจฯ โดยสำนักส่งเสริมสุขภาพปฐมภูมิ ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ขอให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพปฐมภูมิ และคู่มือคุณภาพมาตรฐานบริการสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2566 เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านภารกิจดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงประชาชนได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

3

ทั้งนี้ แม้จะมีการถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ไปยัง อบจ. แต่ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานตามนโยบาย 3 หมอ โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทุกคนยังปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในความดูแลของ สธ. และกระทรวงจะเป็นพี่เลี้ยงในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เกิดความราบรื่น ทั้งในส่วนของข้อมูล บุคลากร การให้บริการ ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ส่วนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนที่มีรายชื่ออยู่ในหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายฯ ได้รับการดูแลด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว โดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมอย่างครอบคลุม ในปี 2565 มีการขึ้นทะเบียนจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว 3,453 หน่วย อยู่ใน 12 เขตสุขภาพ 3,191 หน่วย และในกรุงเทพมหานคร 262 หน่วย สำหรับในปี 2566 มีเป้าหมายจัดตั้ง 3,500 หน่วย