ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ Thai PBS World ร่วมจัดงานรณรงค์ “12 ธันวาคม วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” ประจำปี 2565 ณ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ

5

ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส พร้อมเวทีเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพไทยและทิศทางอนาคต รวมทั้งกระตุ้นนานาประเทศในการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

หนึ่งในเวทีที่ได้รับความสนใจ คือ เวทีเสวนา “20 ปีหลักประกันสุขภาพไทย ข้อจำกัดและความท้าทายของประเทศไทย” มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพและเยาวชนเข้าร่วมให้ความเห็นต่อการพัฒนาปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ ยังทบทวนความสำเร็จของระบบตั้งแต่มีการก่อตั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในปี 2545

1

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการสถาบันรับรองคุณภาพพยาบาล (สรพ.) กล่าวในระหว่างการเสวนาว่า แม้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถขยายความครอบคลุมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งในมิติประชากรและบริการสุขภาพ ยังมีความท้าทายในเรื่องการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของบริการสุขภาพ

“หากเราอยากมีความครอบคลุมที่มีประสิทธิภาพ สร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำ การขยายความครอบคลุมเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบ เราต้องทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยด้วยเช่นกัน” รศ.นพ.จิรุตม์กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ระบุว่าประเทศทั่วโลกล้วนเผชิญความท้าทายด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการ การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า 10% ของผู้ป่วยในมีโอกาสได้รับอันตรายจากความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์ในระหว่างเข้ารับการรักษา และ 10% ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เจอผลข้างเคียงที่นำไปสู่ความตายได้ ไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของผู้ให้บริการ แต่เพราะระบบการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนของประเทศไทย สรพ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจัดทำโครงการ “ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” หรือ Patient and Personnel Safety (2P Safety) ตั้งแต่ปี 2559 มีโรงพยาบาลกว่า 850 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 1,400 แห่ง เข้าร่วมโครงการอย่างสมัครใจ

โรงพยาบาลเหล่านี้รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มายังส่วนกลาง เพื่อเป็นข้อมูลในการใช้ป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ และหาทางออกในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของบริการสุขภาพในประเทศไทย

นอกจากนี้ สรพ.กำลังยกร่างแนวทางการให้บริการแพทย์ปฐมภูมิ เพื่อยกระดับคุณภาพเช่นกัน โดยจะเริ่มประกาศใช้ใน 2 ปีข้างหน้า

2

พญ.โอลิเวีย เนเวรัส (Olivia Nieveras) ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวชื่นชมประเทศไทยในฐานะเป็นผู้นำด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีโลก

แต่ก็เห็นด้วยว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในก้าวต่อไป ต้องทำให้บริการสุขภาพมีคุณภาพและปลอดภัย ร่วมกับการขยายความครอบคลุมของประชากรและสิทธิประโยชน์ และยกระดับการคุ้มครองทางการเงิน

ความท้าทายอื่นๆ ได้แก่ ต้นทุนการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ความต้องการบริการสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และสังคมผู้สูงอายุที่จะมีความต้องการบริการสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพในทศวรรษต่อไป

ที่ผ่านมา ไทยสามารถพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้ค่อนข้างดี และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและลักษณะโรค แต่เชื่อว่ายังสามารถพัฒนาปรับปรุงได้อีก โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มคุณภาพบริการและความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มารับบริการ

นอกจากนี้ พญ.โอลิเวีย เสนอแนะว่า ระบบสุขภาพควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มากกว่าสนใจแค่การรักษาที่ปลายทาง เน้นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม มากกว่าเน้นการรักษาเพียงอย่างเดียว และควรคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพนอกภาคส่วนสาธารณสุข โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติและเพิ่มจำนวนผู้เปราะบางมากยิ่งขึ้น

3

นพ.รุ่งเรือง กิจพาติ หัวหน้าที่ปรึกษา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก้าวต่อไปของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ควรเน้นที่การแพทย์ปฐมภูมิ ทำให้เกิดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับชุมชน รณรงค์ให้เกิดแนวคิด “self-care” หรือการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง แทนที่จะให้ทุกกิจกรรมสุขภาพมากระจุกตัวที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังต้องหาแนวทางเชื่อมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดการแยกส่วนทำงาน เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกันและบริหารจัดการระบบสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้เห็นว่าการทำงานข้ามหน่วยงานเพื่อประโยชน์ของสุขภาพประชาชนเป็นไปได้ โดยเกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่มาจากพลังความร่วมมือของต่างภาคส่วนและหน่วยงาน เช่น การดึงร้านยามาดูแลผู้ป่วย การจัดบริการเทเลเมดิซิน (Thelemedicine) ทำให้หน่วยงานต่างๆดูแลผู้ป่วยร่วมกันได้

นอกจากนี้ วิกฤตยังทำให้เห็นว่า “การรักษาทุกที่” เป็นไปได้ โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถเข้ารับบริการที่จุดบริการไหนก็ได้ รูปแบบการให้บริการนี้ถูกนำมาพัฒนาต่อในระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งประชาชนสามารถขอรับบริการปฐมภูมิที่จุดบริการใดก็ได้ และเริ่มเดินหน้าแล้วในบางพื้นที่

2

ภัสธนมนท์ สินสวัสดิ์ ตัวแทนจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยสามารถพัฒนาในทางที่ดีขึ้นได้กว่านี้ หากสามารถขยายความครอบคลุมไปสู่ประชากรไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนและการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งเพิ่มจุดรับบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ห่างไกล

ในเรื่องของค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ภัสธนมนท์เสนอว่าควรสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรการกุศลและภาคเอกชน ในการร่วมลงขันช่วยดูแลสุขภาพประชาชน

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรให้ความสำคัญกับเสียงของเยาวชน ซึ่งจะเป็นผู้ใช้บริการสุขภาพในวันหน้า และต้องรับฟังเสียงจากกลุ่มคนเปราะบางด้วย” ภัสธนมนท์ ให้ความเห็น

3