ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพยุโรป ประกาศยุทธศาสตร์สุขภาพใหม่ เน้นผลักดันให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชากรโลก ยกระดับการป้องกันภัยคุกคามด้านสุขภาพจากโรคระบาดและภัยพิบัติ

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศ “ยุทธศาสตร์สุขภาพโลกฉบับใหม่ (Global Health Strategy) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าทำให้ทุกคนในโลกมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

“สุขภาพโลก” (Global Health) เป็นหนึ่งในเสาหลักของนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป เน้นสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยมีนโยบายสุขภาพเป็นพื้นที่แสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์

ยุทธศาสตร์สุขภาพโลกฉบับใหม่ เกิดขึ้นจากการทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศยุโรป เช่น ตัวแทนรัฐบาลและรัฐสภา ภาคประชาสังคม และอื่นๆ

โดยให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ส่งเสริมให้คนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงอายุขัย 2. สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและผลักดันให้นานาประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

และ 3. ป้องกันและต่อสู้กับภัยคุกคามทางสุขภาพ โดยใช้แนวทาง “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health ซึ่งมองความมั่นคงสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งใน คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่วย ฝ่ายอื่นก็จะป่วยตาม

ในส่วนของภารกิจด้านการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยุทธศาสตร์ใหม่ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนโลกภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน

การขับเคลื่อนจะทำในหลายด้าน รวมทั้งการยกระดับการแพทย์ปฐมภูมิในนานาประเทศ และแก้ปัญหาต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอยู่นอกเหนือภาคส่วนสาธารณสุข

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การขาดความมั่นคงทางอาหาร ความขัดแย้งที่นำไปสู่การสู้รบและความรุนแรง เป็นต้น

ดังนั้น ยุทธศาสตร์สุขภาพโลกจะเน้นการบูรณาการนโยบายในหลายๆ สาขา ซึ่งล้วนแล้วมีผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชากร และยังระบุเครื่องมือที่จะทำให้คนสุขภาพดี 3 อย่าง ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัย และการพัฒนาทักษะของแรงงาน

สำหรับภารกิจในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพนั้น เน้นป้องกันผู้คนจากภัยคุกคามในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สารเคมี และอาการดื้อยาปฏิชีวนะ

มีรายละเอียดปลีกย่อยของภารกิจในหลายรูปแบบ เช่น เพิ่มการเข้าถึงยาและวัคซีนด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการผลิตยาในท้องถิ่น ทำกฎกติกาด้านการรับมือโรคระบาดข้ามประเทศ และยกระดับระบบตรวจสอบและติดตามโรค

สำหรับบทบาทของสหภาพยุโรปในภาพรวมนั้น จะอยู่ในสถานะผู้ให้เงินทุนสนับสนุนและให้องค์ความรู้ผ่านองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก รวมทั้งผลักดันวาระด้านสุขภาพผ่านเวทีความร่วมมือต่างๆ เช่น เวทีประชุมกลุ่มประเทศจี 7 และจี 20

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทการจัดหาทรัพยากรทางการเงิน โดยมาจากการลงขันของประเทศในสหภาพยุโรปและภาคเอกชน

ที่่ผ่านมา ประเทศยุโรปเป็นผู้ให้ทุนโครงการสุขภาพเจ้าใหญ่ของโลก สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยกระดับสุขภาพของประชาชนในระดับรากหญ้าไปจนถึงประชาชนทั่วไป

ในส่วนของการบริหารจัดการนั้น ยุทธศาสตร์สุขภาพโลกจะเน้นการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้จ่าย โดยมีการประเมินผลลัพธ์ของโครงการสุขภาพที่ชัดเจน เน้นการทำงานแบบล่างขึ้นบน คือผู้รับทุนจะมีความเป็นเจ้าของโครงการและมีอิสระในการออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพเฉพาะของตน

อ่านบทความต้นฉบับที่:
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_7153