ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะได้ยินคำว่า “โทรเวชกรรม” กันมาบ้างแล้ว หากยังไม่คุ้นหู คำว่า “Telemedicine” น่าจะทำให้ร้องอ๋อขึ้นมาได้ เพราะเป็นคำที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักๆ จนเกิดระบบการรักษาตัวที่บ้าน

Telemedicine นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่เชื่อมร้อยผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เข้าด้วยกัน ในวันที่สถานการณ์บังคับให้เจอกันตัวต่อตัวไม่ได้

อย่างไรก็ดี ระบบ “Telemedicine” ในประเทศไทยก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทปัญหาและพื้นที่ หรือหนุนเสริมให้การพบแพทย์เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นไปได้ง่ายขึ้น

“The Coverage” ได้รับเกียรติพูดคุยกับ พญ.วิราภรณ์ ณรงค์ราช นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และ นางสุดารัตน์ บุญแจ่ม เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ ในฐานะหัวหน้างานเรียกเก็บ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ถึงการใช้ระบบ Telemedicine ของโรงพยาบาล

ระบบที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดพัฒนาขึ้นนั้น ได้เชื่อมต่อลงไปถึงโรงพยาบาลชุมชน เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการการได้แบบใกล้บ้านใกล้ใจ รวมไปถึงการเชื่อมกับระบบเบิกจ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีกด้วย

โควิด-19 กระทบหนัก ผู้ป่วยเจอหมอไม่ได้

พญ.วิราภรณ์ อธิบายถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้นึกถึง “Telemedicine” เอาไว้ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่สะดวกมาตามนัด ทำให้การเยี่ยมบ้านต้องอาศัยนักกายภาพบำบัดที่ต้องลงพื้นที่ และโทร ไลน์ หรือวิดีโอคอลเข้ามาปรึกษาเคสผู้ป่วยขณะเยี่ยมบ้าน เพื่อทดแทนการมาติดตามอาการที่โรงพยาบาล

“สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง การมาพบผู้คนแออัดทำให้เกิดความเสี่ยง บางรายญาติไม่สามารถพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลได้ ทำให้การบำบัดที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยุ่งยาก และผู้ป่วยบางรายสูญหายจากระบบรักษา เพราะช่วงสถานการณ์โควิด บางหมู่บ้านปิดไม่ให้คนภายนอกเข้า ทำให้ทีมเยี่ยมบ้านเองก็ไม่สามารถลงพื้นที่ไปให้การบำบัดได้ ต้องอาศัยการติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อทราบความเป็นมา และให้คำแนะนำผ่านทางโทรศัพท์แทน” พญ.วิราภรณ์ ระบุ

นั่นทำให้ผู้ป่วยในขณะนั้นเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น ข้อติด เกิดแผลกดทับ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเพื่อทำการฟื้นฟูไม่ได้ ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็มาที่โรงพยาบาลไม่ได้ และญาติหรือผู้ป่วยเองไม่ทราบวิธีการดูแล จึงทำให้เกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนขึ้น

จากปัญหาข้างต้น จึงกลายมาเป็นบทเรียนสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ให้คิดถึงการนำระบบ Telemedicine เข้ามาใช้ ทว่ามากไปกว่าการดูแลผู้ป่วย การนำระบบดังกล่าวยังเข้ามาช่วย “ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์” ได้อีกด้วย

พญ.วิราภรณ์ ขยายความว่า เนื่องจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดมีเพียง 1 คน (ก่อนจะเพิ่มมาอีก 2 คนเมื่อ 4 เดือนก่อน) และนักกิจกรรมบำบัด นักเวชศาสตร์สื่อความหมายที่มีอยู่หน้าที่ละ 1 คน เท่านั้น จากข้อจำกัดที่กล่าวมาทำให้การนำระบบ Telemedicine ไม่ได้ใช้เพียงแค่ใช้ในโรงพยาบาลร้อยเอ็ดเท่านั้น แต่ยังไปยังโรงพยาบาลชุมชนเพื่ออาศัยกำลังของนักกายภาพในแต่ละอำเภออีกด้วย

สำหรับบริการที่เกิดขึ้น ทำให้เดิมทีผู้ป่วยที่ต้องรอการบำบัด ฝึกกลืน ฝึกสื่อสารที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องบำบัดสามารถทำการบำบัด ฝึกกลืน ฝึกพูด ผ่านระบบ Telemedicine ที่ถูกพัฒนาโดยไดเอทซ์ (Dietz.asia) กับแพทย์ได้ โดยมีนักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งที่ผ่านการอบรมมาแล้วอยู่ข้างๆ ผู้ป่วยระหว่างรับบริการ

“Telemedicine น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น ลดการเดินทางมาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ลดการรอคอยที่ต้องมารอคิวในการบำบัดที่โรงพยาบาล และสามารถพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และวิชาชีพเฉพาะทางได้โดยเพียงไปขอรับการทำ telemedicine ใกล้บ้าน พญ.วิราภรณ์ กล่าว

โรงพยาบาลชุมชนกำลังหลักในการดูแลผู้ป่วย

สำหรับการรับบริการในโรงพยาบาลชุมชนนั้น หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านการกลืน สื่อสาร ฯลฯ ก็จะมีการนัดวันเพื่อเข้ารับบริการในระบบ และหลังจากยืนยันวันนัดแล้ว เมื่อถึงวันก็จะมีการทำ Telemedicine ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับการสอบถามอาการจาก และประเมินโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จากนั้นก็จะทำการบำบัดโดยนักกิจกรรมบำบัดผ่านระบบ โดยมีนักกายภาพบำบัดอยู่ด้วยระหว่างทำการบำบัดรักษา และก็จะมีการนัดติดตามอาการอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ป่วยกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บสมอง บาดเจ็บไขสันหลัง ซึ่งหากได้รับการฟื้นฟูเต็มที่จะสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้ผู้ป่วยกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุดตามศักยภาพที่ควรจะเป็นได้

“โรงพยาบาลชุมชนคือกำลังหลักในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มฟื้นฟู เพราะการมาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เป็นการวางแผนประเมินและให้การรักษาขั้นต้น หากผู้ป่วยไม่กลับไปรักษาหรือฟื้นฟูต่อเนื่อง ทำให้ศักยภาพในการฟื้นตัวจะได้ผลไม่ดี

“โรงพยาบาลชุมชน จึงเป็นกำลังหลัก ในการกระตุ้น ให้การรักษาแกผู้ป่วย หากโรงพยาบาลชุมชนมีศักยภาพมากขึ้น ผู้ป่วยเองก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาไกล ญาติไม่ต้องลางาน ไม่เสียค่าเดินทาง จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติอยากเข้ารับการฟื้นฟูมากยิ่งขึ้น” พญ.วิราภรณ์ กล่าว

นอกจากนั้น แม้จะมีปัญหาเรื่องนักกายภาพบำบัดที่ยังมีไม่เพียงพอ แต่บางโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งก็มีนักกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริหารให้การสนับสนุน นั่นก็สืบเนื่องมาจากผลงานการดูแลด้านการฟื้นฟูตรงนี้

พญ.วิราภรณ์ ระบุว่า การนำระบบ Telemedicine ของไดเอทซ์มาใช้นั้น แม้ว่าจะมีความเสถียรกว่าเครื่องมือเดิมที่เคยใช้ก่อนหน้า แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานของเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพราะปัจจุบันนี้การทำการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล (Tele-Rehabilitation) ยังต้องให้ผู้ป่วยนัดผ่านนักกายภาพบำบัด เนื่องจากผู้ป่วยฟื้นฟูส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มสูงอายุ พิการ ทำให้ไม่สามารถเข้าระบบเองได้

การฟื้นฟูจำเป็นต้องมีนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลชุมชนอยู่เคียงข้าง ทำให้การเข้าระบบข้อมูลเป็นการ Log in โดยนักกายภาพบำบัด และการเก็บข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคล ยังคงต้องมาเปิดระบบ Hos xp ของโรงพยาบาลควบคู่กันไป

ท้ายที่สุดแล้ว จากการทดลองระบบได้ราว 2 เดือน มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการ 4 คน สิ่งที่ได้คือการผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ถี่ขึ้นเป็นเดือนละ 1 ครั้ง แทนที่จะเข้ามารับบริการตามแพทย์นัดราวๆ 3 เดือนครั้ง

มากไปกว่านั้นผู้ป่วยยังชื่นชอบ เพราะสะดวกต่อการรักษา เนื่องจากการเจอในจอที่ได้พูดคุยกัน Real Time ทำให้สามารถถามตอบได้ไม่ต่างกันกับการเจอกัน แต่สำหรับการประเมินต่างๆ แน่นอนว่าไม่อาจทดแทนการตรวจร่างกายผู้ป่วยต่อหน้าเองได้ แต่ยังดีกว่าการที่ผู้ป่วยรู้สึกยุ่งยากในการเดินทาง และการรอคอย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสูญหายจากระบบการรักษา

ก่อนให้บริการต้องมีการตั้งโต๊ะพูดคุย เพื่อให้การ เคลมง่ายขึ้น

นางสุดารัตน์ อธิบายว่า โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งสถานบริการที่เข้าร่วมโครงการการให้บริการสาธารณสุขระบบทางไกลเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บนวัตถุประสงค์เพื่อลดความแออัด แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 จึงได้มีการประเมินว่าระบบทางไกลนั้นมีประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จึงได้มีการเข้าร่วม ซึ่งเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่ได้ส่งไป

ขณะเดียวกัน ก่อนจะเริ่มจัดบริการจะมีการประชุมกันระหว่างกลุ่มงานประกันสุขภาพ แพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนว่าผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีข้อมูลใดบ้างที่จะต้องลงในระบบ Hos xp เพื่อให้งานประกันฯ สามารถตรวจและสอบและส่งเคลมได้ แน่นอนว่าการเคลมไม่ได้ยุ่งยาก หากมีการคุยกันอย่างชัดเจน

นางสุดารัตน์ ระบุว่า ส่วนตัวแล้วได้เป็นวิทยากรเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนต่างๆ ของ สปสช. ให้โรงพยาบาลชุมชนได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบบริการ หรือเรื่องการเคลมค่าบริการ ซึ่งในส่วนการเคลมค่าบริการ Telemedicine ของโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ก็ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา เพื่อเป็นการเชื่อมระบบ E-Claim ของ สปสช. และ Hos xp ของโรงพยาบาลเพื่อใช้ในการเบิกจ่ายค่าบริการ

สำหรับสาเหตุที่ต้องมีตัวเชื่อมนั้น ก็เพราะในการเคลมไม่ใช่เคลมเพียงแค่เฉพาะบริการ Telemedicine เท่านั้น เพราะยังมีกองทุนอื่นๆ ที่เชื่อมกับ สปสช. อีก ส่วนนี้จะเป็นเหมือนตะแกรงร่อนอีกครั้งว่าส่วนใดสามารถเบิกกับ สปสช. ได้ หรือส่วนใดเบิกไม่ได้

นางสุดารัตน์ ขยายความถึงการให้บริการของโรงพยาบาลร้อยเอ็ดในการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine ว่า หลังจากที่มีการตกลงร่วมกันแล้วว่า แพทย์เมื่อเสร็จสิ้นการให้บริการจะต้องทำการบันทึกข้อมูลลงในระบบของ Hos xp ของโรงพยาบาลก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถส่งเรื่องเบิกจ่ายค่าให้บริการของ สปสช. ได้ ซึ่งในที่นี้เมื่อมีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลร้อยเอ็ดจะได้ค่าบริการในเรื่องของการให้คำปรึกษา

“ขณะเดียวกันเมื่อโรงพยาบาลชุมชนให้บริการเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบกองทุนที่ สปสช. กำหนดเอาไว้ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนสามารถเคลมได้ตามปกติ” นางสุดารัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงกับระบบ E-Claim นั้น ทางไดเอทซ์กำลังพัฒนาเพื่อให้พร้อมสำหรับการขยายบริการต่อไป