ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่สามารถพบได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 1 ปีหลังคลอด โดยช่วง 3-6 เดือนหลังคลอดเป็นระยะที่พบได้มากที่สุด ในปัจจุบันมีสถิติที่คุณแม่หลายท่านประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสูงขึ้นถึงร้อยละ 19 ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาในประเทศที่กำลังพัฒนา

สำหรับในประเทศไทยนั้น พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ร้อยละ 10 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงประมาณร้อยละ 26 อาจจะเป็นเพราะสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่หลังคลอด

​ สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่ก็มีหลายปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ เช่น ความเครียดที่มีตั้งแต่ระยะการตั้งครรภ์ถึงคลอด การไม่สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านบทบาทจากโสดมาสู่การเป็นแม่ ความไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ แม้แต่การเจ็บปวดในระยะคลอด เช่น การผ่าตัด (กลไกของร่างกาย)

ความไม่ประสบความสำเร็จในการให้นมบุตรซึ่งทำให้แม่รู้สึกขาดความภาคภูมิใจในตนเองที่ไม่สามารถแสดงบทบาทการเป็นแม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่งานวิจัยพบว่าส่งผลได้อีก เช่น ประสบการณ์ของการถูกทำร้ายจิตใจในวัยเด็ก หรือประสบการณ์การถูกทำร้ายจิตใจและร่างกายจากคู่สมรส เป็นต้น

ด้วยปัจจัยจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้คุณแม่หลายท่านมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด เช่น รู้สึกเศร้า หดหู่ น้อยใจ ทุกข์ใจ ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย นอนไม่หลับ ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ มีแนวทางในการรักษาได้

แบ่งเป็นในระยะเบื้องต้น ถ้าได้รับการดูแลรักษาที่เร็วจะทำให้สามารถจัดการภาวะทางอารมณ์ได้ดี ลดความเครียด ความวิตกกังวลได้ และหายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากและไม่สามารถหายได้ในสองสัปดาห์ จะต้องเข้าสู่การรักษา เพื่อให้อาการเบาลงได้

3

สำหรับแนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ แบ่งเป็น 1. การให้ยาปรับอารมณ์ 2. การใช้โปรแกรมจิตบำบัดโดยผู้เชี่ยวชาญ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยาควบคู่ไปกับการใช้โปรแกรมจิตบำบัด จะทำให้การรักษาได้ผลในระยะยาวดีที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีอาจารย์พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าในทุกช่วงวัย โดยที่ผ่านมามีการให้คำปรึกษาและทำจิตบำบัดมาโดยตลอด ซึ่งในกรณีคุณแม่หลังคลอดนี้ เป็นภาวะที่บอบบาง หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลกระทบต่อบุตรโดยตรง

มีงานวิจัยพบว่า บุตรที่ถูกเลี้ยงโดยมารดาที่มีอาการซึมเศร้าจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป

​ในปัจจุบันนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้ร่วมกับ ภาคเอกชน ในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้คำปรึกษาโดยอาจารย์พยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญกับคุณแม่ ในเรื่องราวต่างๆ ของการเลี้ยงลูก ทั้งนี้ในส่วนของการให้คำปรึกษาภาวะซึมเศร้าคุณแม่หลังคลอด หรือปัญหาสุขภาพใจของคุณแม่ ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะคอยส่งอาจารย์พยาบาลในภาควิชา ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่คุณแม่ที่มีปัญหาเพื่อให้ทุกปัญหามีทางออก และส่งผลที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของคุณแม่และครอบครัวต่อไป

หากท่านใดมีปัญหา สามารถขอคำปรึกษาจากอาจารย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญได้ที่ Line Official Account  :  MU Mymind  หรือ link ได้ที่  https://lin.ee/uuM8UvB