ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน การถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ไป อบจ. ต้องเป็นไปถูกต้องตามกฎหมาย และทั้งสองฝ่ายต้องมีความพร้อม ชี้การถ่ายโอนรอบปี 2567 บุคลากรยึดตามคู่มือการถ่ายโอนฯ และความเห็น ก.พ. ส่วนงบประมาณ UC สสจ.และ อบจ.ต้องหารือให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน ล่าสุดเหลืออีก 9 จังหวัด รวม 331 แห่ง


นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตอนหนึ่งว่า ได้กำชับและสื่อสารกับผู้บริหารในพื้นที่อย่างต่อเนื่องให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและให้มีการเตรียมความพร้อมทั้งฝ่ายรับและฝ่ายโอนในพื้นที่

ทั้งนี้ ในส่วนกลางระดับอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ได้ทำความชัดเจนในหลักการและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนในรอบที่ 2 ปี 2567 โดย ประการที่ 1 บุคลากรที่จะถ่ายโอนตามภารกิจ เป็นไปตามคู่มือการถ่ายโอนฯ และการยืนยันของผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ประการที่ 2 งบประมาณ ซึ่งมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็น fix cost ของ รพ.สต. ตามขนาด S, M, L ซึ่งสำนักงบประมาณเป็นหน่วยดำเนินการ และส่วนที่สอง งบประมาณหลักประกันสุขภาพ หรือ งบ UC ซึ่งเป็นงบที่ รพ.สต. เคยได้รับนั้น หน่วยงานในระดับพื้นที่ คือ สสจ. และ อบจ. ต้องเจรจาหารือตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบในส่วนผู้ป่วยนอก (OP) และงบในส่วนรายการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ (PP) ให้เกิดข้อตกลงทั้งสองฝ่าย

นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า ปลัด สธ. ได้มอบอำนาจให้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้ลงนามการส่งมอบและบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ นายก อบจ. ซึ่งแต่ละพื้นที่ สสจ.และ อบจ. ต้องมีการประสานหารือ ติดตามตรวจสอบ ทบทวนประเด็นต่างๆ ที่อาจยังมีความไม่ชัดเจนหรือยังเป็นข้อกังวลใจอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และลดผลกระทบทั้งต่อการให้บริการประชาชน หน่วยงานและบุคลากรที่ต้องถ่ายโอน จึงอาจทำให้บางจังหวัดมีความล่าช้าอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าคืบหน้าไปอย่างมาก มีการถ่ายโอนไปแล้ว 40 จังหวัด รวม 2,932 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 9 จังหวัด รวม 331 แห่ง ทางพื้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ หากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าสิ่งที่ยังไม่ชัดเจนหรือยังเป็นข้อกังวลใจในการถ่ายโอน สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริการประชาชน หรือบุคลากรที่ต้องถ่ายโอน ก็สามารถลงนามการส่งมอบและ MOU ได้ทันที

“กระทรวงสาธารณสุข เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับช่วงที่อาจจะมีการระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้น รวมถึงไวรัสอุบัติใหม่ตัวอื่นของโรคทางเดินหายใจที่เริ่มมีรายงาน และโรคติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ที่อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและผลกระทบตามมา เนื่องจากระบบเดิมที่ดำเนินการอยู่ทางระบาดวิทยา คือการเฝ้าระวังโรค การควบคุมและป้องกันโรค การส่งต่อ ตลอดจนการรายงานข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการสั่งการตามระดับถึงในพื้นที่ ซึ่งอาจมีปัญหาเนื่องจากไม่สามารถสั่งการตรงได้ แต่เป็นการประสานงานแทน ทำให้อาจรับมือได้ไม่ทันท่วงที” นพ.พงศ์เกษม กล่าว