ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลัง คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งตั้งขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำชับให้ อบจ. จัดหาบุคลากรสาขาวิชาชีพและทรัพยากร เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนต่อหลังการถ่ายโอนฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า รพ.สต. ที่ถ่ายโอนฯ ไปแล้ว บางแห่งต้องหยุดให้บริการทันตกรรม เนื่องจาก อบจ. ไม่ได้ประสานเรื่องการจัดทันตแพทย์เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานของทันตาภิบาล ใน รพ.สต. ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. วิชาชีพ

มากไปกว่านั้น คณะกรรมการฯ ยังระบุอีกว่า จากการติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนฯ ล่าสุดพบว่า ดำเนินการแล้ว 40 จังหวัด มี รพ.สต. ถ่ายโอนฯ แล้ว 2,932 แห่ง และยังเหลืออีก 9 จังหวัด รวม รพ.สต. 331 แห่ง ซึ่งถ้าหาก อบจ. มีความพร้อมจะสามารถลงนามได้ทันที (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thecoverage.info/news/content/4338)

นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า กรณีที่บอกว่า 9 จังหวัดยังไม่ถ่ายโอนฯ เนื่องด้วย อบจ.ไม่พร้อมนั้น ถามว่าไม่พร้อมอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วฝั่งที่ไม่พร้อมเป็นฝั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ใช่ อบจ. เช่น เรื่องวัสดุ ครุภัณฑ์ หรือแม้แต่ยูนิตทันตกรรมที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้ยกให้ อบจ. รวมไปถึงทรัพย์สินต่างๆ สธ. ไม่สามารถสรุปข้อมูลทรัพย์สิน ฯลฯ ที่จะส่งมอบให้แก่ อบจ.

อย่างไรก็ดี อบจ. นั้นพร้อมที่จะรับมอบ เนื่องจากการประเมินความพร้อมของ อบจ. เป็นการประเมินจากคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ไม่ใช่ สธ. ฉะนั้นการที่จะบอกว่า อบจ. มีความพร้อมหรือไม่ ถือเป็นการใช้ดุลยพินิจนอกเหนืออำนาจของ สธ. และแทรกแซงการผลการประเมินของคณะอนุกรรมการฯ ที่ประกาศไปแล้วว่า อบจ.พร้อม หรือไม่

“ต้องนำเรียนว่าตามไทม์ไลน์บอกว่าให้ถ่ายโอนฯ กันตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม แต่ปรากฏว่าก็ยืดเยื้อกันมาจนถึงปัจจุบัน บางจังหวัดสามารถถ่ายโอนฯ ได้ตั้งแต่ 2 ตุลาคม แต่หลายๆ จังหวัดก็ยืดเยื้อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ยังขาดอีก 9 จังหวัดที่ไม่ยอมถ่ายโอนฯ ให้เขานายเลอพงศ์ ระบุ

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า กรณีที่แจ้งให้ อบจ.จัดจ้างหรือประสานขอความอนุเคราะห์ทันตแพทย์ เป็นการให้คำแนะนำเกินกรอบอำนาจหน้าที่ของ อบจ.ที่ต้องกระทำ เนื่องจากการถ่ายโอนฯ ครั้งนี้ไม่มีการถ่ายโอนฯ วิชาชีพทันตแพทย์ และกรอบงานการรักษาพยาบาลช่องปากยังเป็นของโรงพยาบาลแม่ข่าย เนื่องจากโรงพยาบาลแม่ข่ายรับเงินเหมาจ่ายรายหัวการบริการผู้ป่วยนอก (OPD) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปแล้ว จึงต้องจัดบริการให้กับผู้มีสิทธิตามเงื่อนไข

นั่นทำให้ เป็นเหตุว่าโรงพยาบาลต้องส่งทันตแพทย์ออกมาให้บริการที่ รพ.สต. โดย รพ.สต. เป็นผู้อำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ และหากต้องการให้เจ้าหน้าที่ทันตาภิบาลทำงานได้ ทันตแพทย์ใน โรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ควรจะต้องเป็นผู้กำกับดูแล โดยที่ อบจ.ไม่ต้องขอความอนุเคราะห์

นอกจากนี้ เมื่อแนวทางการถ่ายโอนฯ ไม่มีการถ่ายโอนฯ ทันตแพทย์ ทำให้การทำงานของทันตแพทย์จะต้องปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิมที่เคยปฏิบัติใน รพ.สต. ขณะสังกัด สธ. ซึ่ง รพ.สต. มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ป้องกัน และก็ได้มีการเพิ่มคำว่าปฐมภูมิขึ้นมา ฉะนั้นจะต้องเขียนแยกออกมาให้ชัดว่าทันตแพทย์รวมกับคำว่าปฐมภูมิ หรือรวมในเนื้องานภารกิจของ รพ.สต. หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า อะไรที่มีการทำก่อนถ่ายโอนฯ ให้ทำเหมือนเดิม โดยให้ส่วนราชการดูว่าหากมีส่วนใดที่ไม่สามารถทำเหมือนเดิมได้ ส่วนราชการต้องไปแก้ไข ระเบียบ คำสั่ง ฯลฯ แต่ สธ. ไม่ได้นำประกาศส่วนนี้ไปปฏิบัติ

“การรักษาทางช่องปาก หรือทันตกรรมยังเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลแม่ข่าย แต่อย่างไรก็ตาม ฝั่ง อบจ. ก็พร้อมที่จะทำให้ ต่อยอดภารกิจถ้าประชาชนต้องการ อบจ.ไม่จำเป็นต้องขอความอนุเคราะห์ เพราะโดยปกติไม่ได้มีทันตแพทย์ไปนั่งประจำ รพ.สต. แห่งใดแห่งหนึ่งตลอด 5 วัน 7 วัน วิธีเดิมคือหมุนเวียน รพ.สต. เช่น ทันตแพทย์บางคนอาจจะไปทุกวันจันทร์ บางคนอาจจะไปทุกวันอังคาร โดย สสจ. หรือ รพ.ชุมชนจะจัดตารางเวรเวียนเพื่อไปดูแล” นายเลอพงศ์ ระบุ

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างเรื่องงบประมาณว่าเงิน CUP จาก สปสช. นั้นเป็นเงินที่ไขว้กับ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนฯ ไปแล้วและได้รับเงินจากสนับสนุน S M L จากคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ตรงนี้เป็นเงินสนับสนุนพิเศษที่ทาง ก.ก.ถ. มองเห็นว่า รพ.สต. ที่ปฏิบัติงานมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งในแนวทางการถ่ายโอนฯ เขียนแยกเอาไว้ว่า เงิน หรือรายได้ต่างๆ ที่เคยได้รับจาก สปสช. นั้นเคยให้อย่างไรก็ให้เหมือนเดิม และต้องเท่าเทียมกับ รพ.สต. ที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนฯ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค

“ผมมองเห็นปัญหาเนื่องจากเป็นคนเริ่มต้นในการทำเรื่องนี้ เริ่มต้นตั้งแต่คณะทำงาน ก็ได้มองอนาคตว่าจะมีปัญหา เลยมีการเขียนไว้ว่าอะไรที่เคยทำก็ทำเหมือนเดิม เงินที่เขาเคยได้ก็ให้เขาได้เหมือนเดิม โดยให้ส่วนราชการไปแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง แม้ว่ายังแก้ไขไม่แล้วเสร็จก็อนุโลมให้เขาทำตามเดิมไปก่อน ซึ่งก็มองว่าเมื่อเขียนไปแบบนี้แต่ทำไมผู้ปฏิบัติเขาไม่ปฏิบัติตาม” นายเลอพงศ์ ระบุ

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ยังมีส่วนราชการไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางการถ่ายโอนฯ ที่เขียนระบุไว้ว่าก่อนและหลังการถ่ายโอนฯ สธ. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือฝั่งของ ก.ก.ถ. จะต้องทำอะไร โดยในการทำหน้าที่ของตนเองตรงนี้ก็จะพยายามให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าใจเนื้อหาของคู่มือการถ่ายโอนฯ เพราะถ้าทุกคนเข้าใจเนื้อหาที่ชัดเจน ส่วนตัวมองว่าสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งก็อยากจะให้ส่วนราชการอ่านคู่มือดังกล่าวให้ชัด และทำตามคู่มือ หรือกฎหมาย พร้อมกับเน้นย้ำว่าอะไรที่มีการทำก่อนถ่ายโอนฯ ให้ทำเหมือนเดิมตามคู่มือแนวทางการถ่ายโอนฯ ระบุไว้

ทั้งนี้ จากการประชุม ก.ก.ถ. ครั้งที่ 6/2565 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้มีการสอบถามเรื่องการตั้งคณะทำงาน หรืออนุกรรมการในการดำเนินเรื่องการถ่ายโอนฯ ซึ่งก็ได้มีการเสนอฝากให้ สธ. พิจารณานำผู้แทนจาก ก.ก.ถ. เข้าไปร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานของฝั่ง สธ. เพื่อให้ได้เนื้อหา หรือข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะขณะนี้ไม่มีตัวแทนจากฝั่ง ก.ก.ถ. เป็นคณะทำงานของ สธ.