ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เมื่อหัวใจเต้น สีผิวของคนจะเปลี่ยน ซึ่งกล้องมีความสามารถที่จะจับได้ว่าสีผิวหนังเปลี่ยนไปกี่ครั้งต่อนาที” นี่คือคำอธิบายของ นีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ที่อธิบายให้ “The Coverage” ฟังถึงการพัฒนาระบบ “Telemedicine” ที่สามารถวัดค่าอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าการแปรปรวนการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจของผู้ป่วย ผ่านกล้อง “โทรศัพท์มือถือ” ได้

นีล เริ่มต้นเล่าว่า แม้ที่ผ่านมาระบบ “Telemedicine” จะเป็นที่แพร่หลายไม่ว่าจะด้วยปัจจัยความสะดวก ผู้ป่วยไม่ต้องออกจากบ้าน หรือจะด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ระบบ “Telemedicine” ก็ยังมีจุดอ่อนนั่นคือ “ไม่มีการตรวจร่างกาย”

ด้วยเหตุนี้ Telemedicine จึงยังมีข้อจำกัดคือใช้รักษาได้เฉพาะโรคง่ายๆ ที่แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการผ่านการสอบถามได้ เช่น ปวดหัว เป็นไข้ ท้องเสีย ฯลฯ

ทว่า ทุกวันนี้ Telemedicine เดินมาถึงจุดที่สามารถใช้ได้กับโรคอื่นได้ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ

“คลิกนิกเริ่มมองและนึกถึงวิธีอื่นเพื่อที่จะทำให้ทราบค่าสัญญาณชีพของผู้ป่วยก่อนจะพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ท้ายที่สุดก็พบเทคโนโลยีตัวใหม่ที่ชื่อว่า “Remote Photoplethysmography (rPPG)” บนจุดประสงค์เพื่อวัดค่าสัญญาณชีพผู้ป่วยก่อนปรึกษาแพทย์” นีล อธิบาย

ตามองไม่ออก แต่กล้องตรวจจับได้

ความเปลี่ยนแปลงของสีผิวที่เป็นผลพวงมาจากการเต้นของหัวใจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กล้อมโทรศัพท์มือถือสามารถตรวจจับได้ นั่นจึงทำให้ ‘คลิกนิก’ และพาร์ทเนอร์ในประเทศโปแลนด์ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพเบื้องต้น ด้วยเทคนิค rPPG โดยที่ผู้ป่วยสามารถวัดค่าสัญญาณต่างๆ ได้เพียงจ้องกล้องโทรศัพท์มือถือ

นีล อธิบายหลักการทำงานของระบบดังกล่าวว่า กล้องจะทำการแบ่งใบหน้าออกเป็นหลายส่วน แต่ส่วนที่มีประโยชน์มากที่สุดคือส่วนที่มีผิวหนังบาง ได้แก่ ส่วนหน้าผาก และโหนกแก้ม เพราะมีกระดูกมากและมีเส้นเลือดอยู่ใกล้กับบริเวณผิวหนัง และเมื่อใจเต้นสีผิวคนเราก็จะเปลี่ยน ทำให้ AI และเทคโนโลยีของกล้องสามารถตรวจจับได้ว่า “สีของผิวหนังเปลี่ยนไปกี่ครั้งต่อนาที”

เหตุนี้ทำให้ ‘คลิกนิก’ พัฒนาเอาระบบดังกล่าวมาใช้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับบริการ Telemedicine โดยจะสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจกี่ครั้งต่อนาที เปรียบเทียบค่าความแปรปรวนการเต้นของหัวใจ หรือ Heart Rate Variability (HRV) ได้ว่าการเต้นของหัวใจระหว่างครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 นั้นในระยะเวลาระหว่างของครั้งที่ 1- 2 เมื่อเทียบกับครั้งที่ 2-3 มีความผิดเพี้ยนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งที่แพทย์สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมไปถึงยังบอกอัตราการหายใจได้อีกด้วย โดยระบบนี้คลิกนิกเริ่มให้ใช้แล้วประมาณ 1 เดือน

“จริงๆ เราคุ้นเคยกับเทคโนโลยีตัวดีอยู่แล้ว เรียกว่าเทคโนโลยี Photoplethysmography (PPG) ที่เวลาไปโรงพยาบาลจะมีการตรวจวัดออกซิเจนในเลือด โดยการนำเครื่องมาหนีบที่ปลายนิ้ว ตรงนี้เป็นเทคโนโลยีที่เหมือนกัน แต่จะเป็นการกดไปกับนิ้ว ซึ่งในนั้นจะมีแสงส่องเข้าไปในนิ้วและจะมีเป็นคล้ายๆ กล้องจับ ซึ่งเมื่อนำผิวหนังไปวางไว้บนแสงตัวนี้ ผิวหนังของเราเมื่อเอากล้องถ่ายหลายๆ ครั้งก็จะบอกได้ว่าสีผิวเปลี่ยนไปกี่นาที เทคโนโลยีมันใกล้เคียงกับตัวนั้น” นีล ระบุ

นีล ขยายความให้เข้าง่ายและเห็นภาพการทำงานขึ้นไปอีกว่า เหมือนการทำงานของสมาร์ทวอทช์ (Smart Watch) ที่ถ้าพลิกดูด้านหลังของนาฬิกา จะมีกล้องและแสงสีเขียว ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่วัดค่าอัตราการเต้นของหัวใจ หรือค่าสัญญาณชีพต่างๆ ได้หลายค่า เพียงแต่สมาร์ทวอท์ช จะใช้ผิวหนังในจุดนั้น แต่ระบบของคลิกนิกจะเป็นการดูผ่านการสแกนใบหน้า

“ในเฟสถัดไป จะมาเรื่องของความดัน และอีกหน่อยก็อาจจะบอกได้ว่าคนคนนี้มีแอลกอฮอล์ในเลือดหรือไม่ ถ้ามีกี่เปอร์เซ็นต์ และก็สามารถบอกระดับความเครียดได้ด้วย ซึ่งก็จะค่อยๆ ปล่อยออกมาเป็นเฟสไป โดยเรื่องของความดันน่าจะเปิดให้ใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งจะมีทั้งความดัน และการวัดค่าออกซิเจนในเลือด” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในแต่ละเฟสจะใช้เทคนิคเดียวกันนั่นคือการตรวจจับสีผิว แต่ก็จะมีการพัฒนาต่อไปอีก เช่น เมื่อวัดค่าความดันก็จะต้องมีค่าอื่นๆ เข้ามาประกอบ เช่น สีผิวที่เปลี่ยนจากอัตราการเต้นของหัวใจที่เปลี่ยนนั้นสัมพันธ์กับความดันอย่างไร ส่วนนี้ก็จะมีการใช้ค่าสมการและค่าสถิติประมาณการได้

ยืนยันความแม่นยำเทียบเท่าโรงพยาบาล

นีล เล่าให้ฟังว่า เทคโนโลยี rPPG เป็น Machine Learning เรียนรู้จากปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลมาเป็น Learning Curve ให้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ฉลาดขึ้น ซึ่งกว่าคลิกนิกจะนำเทคโนโลยีตัวนี้มาใช้นั้นมีการศึกษาและทดลองประมาณกว่า 1 ปี โดยการลองใช้กับผู้ป่วยของคลิกนิก สตาฟ รวมไปถึงพาร์ทเนอร์ทางโปแลนด์ก็ได้มีการทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างในหลากหลายสีผิว รวมไปถึงหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งคลิกนิกเองก็ได้มีการประสานหาข้อมูลสำหรับคนไทยเพื่อให้แม่นยำกับผิวของคนเอเชียมากขึ้น

มากไปกว่านั้น เทคโนโลยี rPPG มีความแม่นยำเปรียบเทียบได้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์จะต้องมีการการันตีความแม่นยำก่อนขออนุญาต ซึ่งคลิกนิกเองก็รีเฟอร์ความแม่นยำเทียบเท่ากับการตรวจในโรงพยาบาล

นีล ขยายความเพิ่มว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดใหม่ล่าสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเทคโนโลยีเองมีงานวิจัยรองรับ ซึ่งก็ได้มีการรับรองให้ใช้แล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือทางฝั่งอเมริกาก็กำลังจะรับรอง

สำหรับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ หากแต่เป็นการเอาผลมาประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ขณะเดียวกัน ถ้าจะนำผลตัวมาใช้ประกอบกับการวินิจฉัยเองจำเป็นจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“คลิกนิกก็กำลังเดินเรื่องขึ้นทะเบียนตัวนี้เป็นเครื่องมือแพทย์ เพราะไหนๆ จะทำแล้วก็ขอให้สุดไปเลย” นีล ระบุ

ถึงอย่างไรนั้นการใช้ก็ยังมีข้อจำกัดที่ว่า แสงในขณะที่กำลังสแกนใบหน้าผ่านกล้องนั้นต้องเพียงพอ และใบหน้าจะต้องไม่ขยับมากเกินไป ซึ่งจะคล้ายกับเวลาสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนตามแอปพลิเคชัน โดยจะมี AI คอยเตือนเมื่อที่ตรงนั้นแสงไม่พอ หรือใบหน้าของผู้ป่วยขยับมากเกินไป ฉะนั้นเมื่อแสงสว่าง และภาพนิ่งพอก็จะสามารถวัดค่าอย่างละเอียดขึ้นมาได้

เริ่มจากโรคง่ายไปสู่การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ขณะนี้เทคโนโลยี rPPG ที่คลิกนิกพัฒนาขึ้นมานั้นสามารถใช้ได้แล้วกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้ 42 กลุ่มโรคที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ทว่าส่วนนี้ นีล มองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นกับกลุ่มเป้าหมายในอนาคต นั่นก็คือผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และมีจำนวนไม่น้อยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง นั่นเลยทำให้คลิกนิกคิดว่าเมื่อนำเทคโนโลยี rPPG มาผสมผสานกับ Telemedicine จะเข้ามาตอบโจทย์และสามารถดูแล อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น

“ในฐานะของ CEO คลิกนิกอยากให้ Telemedicine เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติของการพบแพทย์ในประเทศไทย”

นีล มองว่าส่วนสำคัญอีกหนึ่งสิ่งคือเรื่องของระบบคิวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ และเมื่อวอร์กอินเข้าไปก็จะพบว่าแพทย์และพยาบาลนั้นงานหนักมาก หลายฝ่ายในแวดวงสาธารณสุขเองก็อยากจะที่จะลดความแออัดลง ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้ นั่นก็คือ “การให้เทคโนโลยีทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Telemedicine ไม่สามารถตรวจได้ทุกโรค แต่การที่คลิกนิกนำเทคโนโลยี rPPG เข้ามาก็จะเข้ามาเพิ่มศักยภาพความสามารถของ Telemedicine ให้ครอบคลุมโรคได้กว้างมากขึ้น