ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หน่วยบริการ-โรงพยาบาล ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

การที่หน่วยบริการ “เรียกเก็บค่าบริการ” โดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (Extra billing) ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่สามารถกระทำได้

ระบบประกันสุขภาพในต่างประเทศ มีการจัดการกรณี Extra billing ที่แตกต่างกัน ทั้งการห้ามไม่ให้มีการเก็บเพิ่มเติม อนุญาตให้เก็บได้บางส่วน หรืออนุญาตให้เก็บเพิ่มเติมได้

“The Coverage” รวบรวมการจัดการกรณี Extra billing ในหลากหลายประเทศ เพื่อเทียบเคียงให้เห็นถึงหลักการสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพไทย

เยอรมัน

เยอรมัน ห้ามเก็บ Extra billing แต่ใช้การเจรจาจ่ายตกลงอัตราจ่ายแบบ Fee Schedule ผ่านระหว่าง Sickness fund กับ ตัวแทนหน่วยบริการ โดยกำหนดเป็นอัตราตามเขตพื้นที่ (regional schedule) และ การเหมาจ่ายรายหัวตามเขตพื้นที่ (regional capitation) ซึ่งกำหนดราคา (price setting) ตามค่าของ national relative value scale (RVS)* ที่กำหนดค่าคะแนน (point) ในการรักษาแต่ละประเภท ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นที่เป็นคณะกรรมการจากฝ่ายต่างๆ และเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น ห้ามเก็บ Extra billing แต่ใช้การเจรจาจ่ายตกลงอัตราจ่ายแบบ Fee schedule เท่านั้น ผ่านคณะกรรมการร่วมจากฝ่ายต่างๆ แบบ third party committee ที่ดำเนินการโดยCentral Social Insurance Medical Council (Chuikyo) ที่มีตัวแทนทั้งผู้จัดบริการ ผู้บริหารกองทุน และตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเศรษฐกิจ ยกเว้นการบริการห้องพิเศษ และการอำนวยความสะดวก (amenities) อื่นๆ

ไต้หวัน

ไต้หวัน ส่วนใหญ่ห้ามเก็บ Extra billing ยกเว้นอุปกรณ์ราคาสูง เช่น สายสวนหัวใจ อวัยวะเทียม เป็นต้น ที่อนุญาตให้ผู้ป่วยจ่ายส่วนต่างเอง

แคนาดา

แคนาดา มีการเก็บ Extra billing ในบางพื้นที่ การเก็บ Extra billing ทำให้เกิดการแบ่งแยกการบริการสุขภาพเป็น 2 ระดับที่เหลื่อมล้ำกัน จึงมีการออกกฎหมาย Canada Health Act (CHA) ในปี พ.ศ. 2527 ให้มีการลงโทษทางการเงินแก่จังหวัดที่อนุญาตให้มีการเก็บเงิน Extra billing ทำให้ 5 จังหวัด ห้ามการเก็บแบบทั้งหมด แต่จังหวัดที่เหลือลดจำนวนการเก็บลง และ 2 จังหวัดไม่จำกัดการเก็บ จึงทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่ผู้ป่วยรักษาข้ามจังหวัดที่มีเกณฑ์การเก็บเงิน Extra billing ที่ต่างกัน

สหรัฐอเมริกา (Medicaid & Medicare)

สหรัฐอเมริกา เป็นข้อห้ามเฉพาะบางมลรัฐ ส่วนรัฐที่อนุญาตนั้นพบมากในกรณีในห้องฉุกเฉิน และโรงพยาบาลที่เป็นผู้จัดบริการรายเดียว (single provider) ส่วนผู้จัดบริการแบบกลุ่ม (network of providers) จะมีการเจรจากับผู้ซื้อเพื่อกำหนดอัตราการจ่ายที่เป็นมาตรฐานร่วมกันจึงมีการเก็บ extra billing ที่น้อยกว่า

ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศส สามารถรียกเก็บ Extra billing ได้ แต่ต้องแยกรายการให้ชัดเจน ซึ่งพบว่าแพทย์ประมาณร้อยละ 27 ที่มีการเรียกเก็บ โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นแพทย์เฉพาะทาง และอยู่ในเขตเมือง