ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ชี้ สปสช. ต้องพัฒนาบริการเอชไอวีให้เข้าถึงง่าย แนะ ปรับสูตรยา-เพิ่มตรวจเชิงรุก-ดึงหน่วยบริการภาคประชาสังคมมาเข้าร่วม เพื่อให้ ปชช. เข้าถึงการตรวจ-รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที


มูลนิธิสถาบันการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ได้จัดงานประกาศเจตนารมณ์เรื่อง “U=U: ระบบสุขภาพต้องเท่าเทียมกัน ผู้ติดเชื้อต้องเท่าเทียมทุกคน เนื่องในวันเอดส์โลก” เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมุ่งมั่นที่จะใช้เรื่อง U=U มาเป็นกลยุทธ์หลักในการยุติเอดส์ โดยมีภาคเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)

สำหรับแนวคิดเรื่อง U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือ ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีที่ตรวจไม่พบไวรัลโหลด เท่ากับ ไม่สามารถส่งต่อเอชไอวีให้คนอื่นได้ หลักสำคัญคือสูตรยาต้องมีประสิทธิภาพ และเอื้อให้ประชาชนเข้าถึง และรับประทานได้ง่าย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า หลังจากนี้ สปสช. จะต้องมีการพัฒนาด้านสิทธิประโยชน์ในด้านการเข้าถึงการรักษา รวมถึงการสร้างเงื่อนไขเพื่อดึงหน่วยบริการจากภาคประชาสังคมเข้ามา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการตรวจ และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

นายนิมิตร์ กล่าวว่า อย่างแรกคณะอนุกรรมการฯ จะต้องดูการจัดหายา และการปรับสูตรยาให้เพียงพอ รวมถึง สปสช. ต้องทำเม็ดยาให้มีความยืดหยุ่นในการให้หน่วยบริการด้วย เพราะตอนนี้สูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีพื้นฐาน คือ TLD (Tenofovir/Lamivudine/Dolutegravir) ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนหนึ่งไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น ผู้ที่มีปัญหาค่าไต ผู้สูงอายุ ฯลฯ

นอกจากนี้ ต้องมีการทำให้ประชาชนรู้ถึงสิทธิในการเข้าตรวจให้ทันท่วงทีมากขึ้น โดยที่ผ่านมา สปสช. จัดสรรงบประมาณสำหรับการตรวจเชื้อเอชไอวีได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจากสถิติมีกว่า 1 ล้านคนต่อปี ที่มาใช้บริการในการตรวจ ทว่ายังไม่พอ เนื่องจากปกติจะเป็นการการตรวจเชิงรับในหน่วยบริการเป็นส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้นต้องมุ่งเพิ่มบริการตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น เช่น การจัดหาชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self-Test) ให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ และหน่วยบริการไม่ว่าจะเป็น ร้านยา คลินิกชุมชนอบอุ่น หน่วยบริการเอกชน หน่วยบริการของภาคประชาสังคม สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่รู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการให้ได้

“ในอนาคตอันใกล้ เราต้องพิจารณาในเรื่องนี้ว่า Self-Test จะเป็นสิทธิประโยชน์ และจะเบิกจ่ายยังไงให้ได้ ซึ่งนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะว่าจุดเริ่มต้น U แรกได้จะต้องรู้ผลก่อนว่าตัวเองติดเชื้อ เพราะถ้าคุณติดเชื้อแล้วจะต้องเข้าถึงการรักษาที่เร็วที่สุด เราจึงต้องเอื้ออำนวยให้หน่วยบริการทั้งหลายแหล่ให้บริการการตรวจที่ง่าย และเป็นมิตรกับประชาชน” ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ระบุ

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า สุดท้าย สปสช. ต้องสนับสนุนให้หน่วยบริการภาคประชาสังคมมาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการในการส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีให้มากขึ้น โดยจะต้องทำเกณฑ์ในการเข้าร่วมให้ง่าย แต่สามารถกำกับและตรวจสอบได้ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงให้กับประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้น

“ผมคิดว่า 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ระบบสุขภาพทำได้ เพราะที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้สิทธิประโยชน์การตรวจ รวมถึงบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์เดินมาไกลถึงจุดนี้ อีกทั้งจะเป็นตัวหนุนที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศนี้ยุติปัญหาเอดส์ได้” นายนิมิตร์ กล่าว