ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผย ‘ผู้ประกันตน’ ในระบบประกันสังคมเป็นกลุ่มที่เสียเปรียบที่สุด จ่ายมากกว่า ‘สิทธิบัตรทอง-ขรก.’ แต่ ‘ได้บางบริการน้อยกว่า’ แนะ รวมบริการการรักษา 3 กองทุน เป็นระบบ-มาตรฐานเดียว แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำในระยะยาว


นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ปัญหาหลักอยู่ที่การจัดสรรเงินเพื่อดูแลคนกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยที่ไม่เท่ากัน ความแตกต่างของงบประมาณที่ได้รับในแต่ละกองทุนนี้ ส่งผลต่อเนื่องไปยังบริการการรักษา และชุดสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้ โดยเฉพาะผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม

สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัวไว้ราว 3,000-4,000 บาท รวมถึงกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นกองกลางให้โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้เพื่อประกันความเสี่ยงในกรณีให้การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โดยบัตรทองดูแลประชากรราว 47 ล้านคน ซึ่งใช้การบริหารจัดการงบแบบปลายปิด หรือก็คือต้องบริหารภายใต้งบที่มีอยู่ให้เพียงพอ ไม่สามารถนำเงินมาสมทบเพิ่มเติมได้

ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการ ใช้อัตราเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 1.2 – 1.5 หมื่นบาท แต่เป็นการบริหารจัดการงบแบบปลายเปิด อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ถ้างบเหมาจ่ายรายหัวที่กำหนดไว้ไม่เพียงพอ รัฐสามารถหางบมาจ่ายเพิ่มเติมให้ได้

ขณะที่ระบบประกันสังคม มีอัตราเหมาจ่ายรายหัวราว 3,000-4,000 บาท ต่อประชากร 12-13 ล้านคน และจะมีกองทุนแยกหรืองบประมาณแบบเหมาจ่ายที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้โรงพยาบาลคู่สัญญาอีกส่วนหนึ่ง แม้จะมีความคล้ายคลึงกับระบบบัตรทองในแง่ของการบริหารจัดการ แต่ในรายละเอียดการจ่ายให้กับโรงพยาบาลนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะ สปส. จะจ่ายรวมทั้งเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวและเงินกองทุนการรักษาย่อยรวมเป็นก้อนเดียวให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญา

“ตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบประกันสังคมจะมีเพดานเงินในการรักษา เช่น สมัยก่อนกำหนดไว้ที่ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งอันตรายมาก เพราะแค่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงเคมีบำบัดอะไรแบบนี้ก็ไม่พอแล้ว รวมถึงบางกรณีอาจต้องการการรักษาในทางเลือกอื่นๆ ด้วยแต่ทำไม่ได้เพราะติดที่เพดานเงิน ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างโรคเดียว ยังมีรายการโรคที่เกิดขึ้นแบบนี้อีกเยอะมาก” นายสมชาย ระบุ

นอกจากนี้ระบบประกันสังคม มีบริการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคน้อยมาก รวมถึงไม่มีฝ่ายที่คุ้มครองสิทธิการรักษาเมื่อถูกปฏิเสธอีกด้วย

“คนในประกันสังคมยังเป็นคนกลุ่มเดียวของประเทศนี้ที่น่าสงสารมาก คือเขาต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเองสองต่อ ส่วนหนึ่งคือการหักทุกเดือน อีกส่วนคือจ่ายผ่านภาษีไป ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้มาก็ไม่ค่อยโอเค ในขณะที่คนกลุ่มอื่นๆ ทั้งประเทศจ่ายผ่านระบบภาษีไปแล้ว เช่น สิทธิบัตรทอง และสิทธิข้าราชการ และได้บริการและสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมมากกว่า” อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว

สมชาย กล่าวว่า ในระยะสั้น ระบบประกันสังคม ซึ่งมีสวัสดิการอยู่ 7 ด้าน ควรนำด้านบริการการรักษาสุขภาพ ไปรวมกับระบบบัตรทอง ให้ สปสช. เป็นคนบริหารจัดการ แต่ไม่ต้องเอาหน่วยบริการเอกชนที่เคยเป็นคู่สัญญาออกไปกับ สปส. ออกไป แต่ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกันตน

“ถ้าทำได้สิทธิประโยชน์ที่ผมบอกว่าเป็นปัญหา ผู้ประกันตนจะได้มาทันทีเท่าเท่าเทียมกับคนในระบบบัตรทอง ส่วนเงินที่ถูกหัก 1% จากเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสำหรับสวัสดิการด้านสุขภาพ ให้เปลี่ยนไปเป็นเงินบำนาญเมื่อตอนอายุ 65 ก็จะได้บำนาญมากขึ้น” สมชาย กล่าว

อย่างไรก็ดีในระยะยาวทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งหลายประเทศมีการทำมาก่อนแล้ว เช่น ประเทศเกาหลี คือ การหลอมรวมทั้ง 3 กองทุน ให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งสวัสดิการเดิมอื่นๆ เช่น บำนาญ อาจให้อยู่ในสังกัดเดิมก็ได้ แต่ด้านสุขภาพให้มาเป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน และไทยจำเป็นต้องไปให้ถึง