ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลจากระบบ Data Center สำนักบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2560, 2561, และ 2562 (9 เดือน) ซึ่งอ้างอิงอยู่ในรายงานเรื่อง “Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้” ของ สปสช. ระบุถึง “ประเด็นที่ประชาชนร้องเรียนว่าถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการ” 5 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1. ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 2. Lab และ เวชภัณฑ์ 3. การใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 4. การใช้บริการนอกเวลาทำการ 5. บริการอื่นๆ ที่อยู่ในสิทธิ และมีการกำหนดค่าบริการไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งกรณีอื่นๆ เช่น สิทธิว่าง เด็กแรกเกิด ไม่ตรงตามสิทธิ กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน คนพิการ ทหารผ่านศึก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ค่าบริการกรณีขอใช้ห้องพิเศษ

1

ทั้งนี้ จากข้อมูลทั้งสามปี พบว่ามีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,842 เรื่อง หรือร้อยละ 0.0006 ของจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) ในแต่ละปีโดยเฉลี่ย และจำนวนเงินที่หน่วยบริการเรียกเก็บรวมทั้งสิ้น 31,590,287 บาท

ว่ากันเฉพาะการร้องเรียนกรณี ‘หน่วยบริการจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ’ และเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย พบว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการระบบบัตรทอง ทำให้ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยออกหนังสือแจ้งเรื่องการจ่ายยาให้ผู้มีสิทธิบัตรทองมาตั้งแต่ปี 2544 และต่อมาในปี 2547 สปสช. ก็ได้ออกหนังสือซักซ้อมความเข้าใจการจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ

โดยให้หน่วยบริการพิจารณาใช้ยาในบัญชียาหลักฯ “เป็นหลัก” และจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ โดยมีเหตุผลสมควร ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการได้ เว้นแต่กรณีที่มีการร้องขอ

จากข้อมูลสามปี พบว่า ผู้รับบริการร้องเรียนในประเด็นนี้จำนวน 257 เรื่อง เฉลี่ย 92 เรื่องต่อปี

2

ทั้งนี้ หากจำแนกตามสังกัด พบว่า เป็นหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 62.26% และภาคเอกชน 37.74%

หากจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 72.37% ปริมณฑล 14.76% และเขตอื่นๆ 12.84%

หากจำแนกตามประเภทหน่วยบริการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเอกชน 22.18% หน่วยบริการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 16.73% และสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 15.95%

3

การที่ประชาชนถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการ โดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ กรณีจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นไปตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ ซึ่งผู้รับบริการมีสิทธิร้องเรียนต่อ สปสช. เพื่อให้มีการสอบสวน

อย่างไรก็ตาม ผลตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 257 เรื่องในเบื้องต้น พบว่า มีมูลความจริง 171 เรื่อง ผู้ร้องเข้าใจผิด 65 เรื่อง จำนวนเงินที่หน่วยบริการเรียกเก็บคิดเป็น 2,864,805 บาท (น้อยที่สุด 20 บาท มากที่สุด 672,153 บาท) จำนวนเงินที่ประชาชนได้รับคืน 510,016 บาท (น้อยที่สุด 30 บาท มากที่สุด 110,350 บาท)