ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย่างที่กล่าวไปในตอนที่ 01 (https://www.thecoverage.info/news/content/4303) ว่า การที่ประชาชนประสบปัญหาถูกหน่วยบริการเรียกเก็บเงินค่าบริการ โดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ จะนำไปสู่ปัญหาหรือเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและอาจก่อวิกฤตทางการเงินให้ประชาชนได้

การที่หน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (Extra billing) ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่สามารถกระทำได้

Extra billing ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ . 2545 การเรียกเก็บค่าบริการ โดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือ Extra billing ไม่สามาถกระทำได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขครอบคลุมรอบด้าน ยกเว้นบริการที่ไม่คุ้มครองบางรายการเท่านั้น รวมทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ประกาศกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตรา 30 บาท ในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการเท่านั้น และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศยกเว้นผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นรวม 21 กลุ่มที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

Cost sharing การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ

ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 บอร์ดประกาศกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตรา 30 บาท ณ จุดบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ หรือเรียกว่า Copayment at point of service รวมทั้ง สธ. ได้ออกประกาศกำหนดบุคคล 21 กลุ่ม ที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ดังนั้น การเรียกเก็บเงินร่วมจ่ายค่าบริการเกินกว่าอัตราที่กำหนด ไม่สามารถกระทำได้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้การร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ ณ จุดรับบริการ (Copayment at point of service) เป็นไปอย่างเหมาะสม และไม่เกิดผลกระทบต่อผู้รับบริการ คณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอหลักการของการร่วมจ่าย ณ จุดรับบริการ ไว้ดังนี้

  1. ต้องไม่มีการร่วมจ่ายในบริการที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ (Externality) เช่น การให้ วัคซีนการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาโรคระบาด เป็นต้น
  2. ต้องมีระบบที่มีประสิทธิภาพในการดูแลให้เกิดความเป็นธรรม การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และไม่เป็นภาระทางการเงินจนกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือน
  3. ให้มีการร่วมจ่ายในกรณีที่เลือกใช้บริการที่มีความสะดวกพิเศษ เช่น คลินิกพิเศษ แพทย์ เฉพาะบุคคล หรือห้องพิเศษ โดยจะต้องจ่ายทั้งค่าธรรมเนียมบริการพิเศษและค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งในและนอกสิทธิประโยชน์ และต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เช่น ป้องกันการรับภาระค่าใช้จ่าย มากเกินไป มีทางเลือกตามระดับรายได้ และสามารถขอกลับไปใช้บริการตามระบบปกติได้โดยไม่ต้อง ร่วมจ่าย
  4. ต้องมีกลไกป้องกันมิให้คนที่มีรายได้สูง ดูดซับทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีจำกัดไปจาก คนกลุ่มอื่นๆ เช่น การกำหนดราคาการร่วมจ่ายที่ชัดเจน และ มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด
  5. ต้องมีระบบการกระจายเงินที่เก็บได้ ไปยังสถานพยาบาลอื่นๆ อย่างเหมาะสม เพื่อมิให้ ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่เฉพาะพื้นที่ที่มีเศรษฐานะสูง

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ปรับด้วยโครงสร้างอายุ (Age adjusted expenditure per capita) ของแต่ละระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ควรมีค่าไม่ต่างจากค่าเฉลี่ย ของระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้งสามระบบหลีก ± 10% และการกำหนดรูปแบบและวิธีการจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาลด้วยมาตรฐานเดียวกันในทุกประเภทและระดับบริการ เนื่องจากความเสมอภาคในการจ่าย ชดเชยค่าบริการในแต่ละระบบประกันสุขภาพภาครัฐ อาจช่วยลดความเสี่ยงที่หน่วยบริการจะเรียกเก็บเงิน เพิ่มเติมโดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนดได้

อ่าน e-book Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้