ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาหน่วยบริการ-โรงพยาบาล “การเรียกเก็บค่าบริการ” จากประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ห้าม หน่วยบริการ-โรงพยาบาล เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง แต่ในความเป็นจริงก็ยังพบปัญหานี้อยู่ตลอด

ข้อมูลจากระบบ Data Center สำนักบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 แม้จะเป็นข้อมูลย้อนหลัง แต่สามารถฉายภาพสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูล ระบุว่า ปีงบประมาณ 2560 และ 2561 มีประชาชนร้องเรียนเรื่องถูกเรียกเก็บบริการ ทั้งค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ค่า Lab และเวชภัณฑ์ ค่าเข้ารับการรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ค่าเข้ารับบริการนอกเวลาทำการ ค่าอื่นๆ ฯลฯ รวมแล้ว 1,146 และ 1,084 เคส เรียกเก็บเงินประมาณ 10.4 ล้านบาท และ 11.8 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ปี 2562 ข้อมูล 9 เดือน พบเรื่องร้องเรียนแล้ว 612 เคส รวมเป็นเงิน 9.3 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นฯ ในปี 2561 และ 2562 พบว่า กลุ่มเป้าหมายประมาณ 3% ถูกเรียกเก็บเงิน เมื่อไปใช้บริการสาธารณสุขทุกครั้งในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา

สถิติเหล่านี้กำลังบ่งบอกอะไร !!?

หากพิจารณาจะพบว่า มีเคสร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 1,000 ราย หรือคิดเป็น 0.0006% ของจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นฯ ในปี 2561 และ 2562 พบว่า กลุ่มเป้าหมายประมาณ 3%

นั่นหมายความว่า ปัญหาการถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ “เกิดขึ้นมากกว่าเรื่องร้องเรียน”

ข้อมูลจากรายงานเรื่อง “Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้” ของ สปสช. มีการพูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยสรุปสถานการณ์เอาไว้ตอนหนึ่ง

“การแก้ปัญหายังมีข้อจำกัดและการถูกหน่วยบริการเรียกเก็บเงินยังคงมีอยู่ ซึ่งประชาชนยังมีการร้องเรียนต่อเนื่อง สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติหรือเข้าใจไม่ตรงกัน ข้อมูลไม่เพียงพอ ความไม่ชัดเจนของประกาศหรือแนวทางปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งปัจจัยในเชิงระบบ เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างรวดเร็วส่งผลต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นความพยายามแก้ปัญหาบางอย่างยังส่งผลให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดหมาย เช่น การใช้หนังสือแสดงความยินยอม เป็นเหตุในการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้สิทธิ เป็นต้น”

การที่ประชาชนประสบปัญหาถูกหน่วยบริการเรียกเก็บเงินค่าบริการ โดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ จะนำไปสู่ปัญหาหรือเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและอาจก่อวิกฤตทางการเงินให้ประชาชนได้

การที่หน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด (Extra billing) ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่สามารถกระทำได้ และในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ห้ามเก็บ Extra billing ในระบบหลักประกันสุขภาพเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามสิทธิการรับบริการสาธารณสุขของประชาชน รวมทั้งการร่วมจ่าย ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 5, 6, 7, 8 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สิทธิของหน่วยบริการในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 38, 46, 18(4), 26(5)

การคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายตามสิทธิ หรือหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บหรือเรียกเก็บกว่าอัตราที่กำหนด สามารถร้องเรียนต่อ สปสช. ให้มีการสอบสวนได้ตามมาตรา 59

เพราะที่สุดแล้ว หากเรื่องเป็นไปตามข้อร้องเรียน นอกจากหน่วยบริการจะต้องจ่ายเงินคืนแล้ว ยังจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกด้วย

ในตอนต่อไป … จะว่าด้วยรายละเอียด ‘หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ’ หรือ Extra billing กันอย่างลงลึก

อ่าน e-book Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้