ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดอกผลจากการกระจายอำนาจในระบบสาธารณสุข ด้วยการเปิดให้หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ อันประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) และสถานีอนามัย ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างที่น่าสนใจอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมี รพ.สต. ทั้งหมด 143 แห่ง ในจำนวนนี้มีถึง 97 แห่ง ที่ถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปอยู่กับ อบจ.กาญจนบุรี

การถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว เป็นไปตามความมุ่งหวังที่ต้องการให้คนกาญจนบุรีได้รับบริการสุขภาพที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่

ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ การยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

แม้ว่าการถ่ายโอนภารกิจฯ ล็อตใหญ่ของประเทศจะเพิ่งเริ่มต้น หากแต่ภายในระยะเวลาอันสั้น กลับพบว่า รพ.สต. อย่างน้อย 50 แห่ง เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ The Coverage ฟังว่า จาก รพ.สต. 97 แห่ง ที่ถ่ายโอนภารกิจฯ พบว่ามีถึง 50 แห่ง ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแพทย์ออกตรวจบริการประชาชนเลย แต่ปัจจุบันจะมีแพทย์จาก รพ.สต. ออกตรวจประชาชนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

"การวางแผนเพื่อยกระดับบริการด้วยการส่งแพทย์ออกตรวจนั้น เป็นความร่วมมือระหว่าง อบจ.กาญจนบุรี กับนายแพทย์ สสจ.กาญจนบุรี ที่เข้าไปทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลสินแพทย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยให้โรงพยาบาลสินแพทย์ส่งแพทย์ออกไปให้บริการประชาชนร่วมกับ รพ.สต.ในพื้นที่” นพ.ประวัติ อธิบาย

นั่นหมายถึงการมีแพทย์เพียงพอต่อการดูแลรักษา และสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาคุณภาพชีวิต

รพ.สต. เป็น Gate Keeper – ด่านแรกดูแลสุขภาพ ปชช.

การบริหารเพื่อนำไปสู่การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนชาวกาญจนบุรี มีจุดตั้งต้นมาจากวิสัยทัศน์ของ 2 ผู้นำจาก 2 องค์กร นั่นคือ นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี และ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ นายก อบจ.กาญจนบุรี ที่มองเห็นประโยชน์ของการกระจายอำนาจ และมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และถือเป็นการทำลายข้อจำกัดเดิมที่เคยมี

เมื่อเป้าหมายและวิธีการสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านใดบ้าง จุดหมายปลายทางของการพัฒนาจะเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดความรื่นไหลในการขับเคลื่อนนโยบาย

เบื้องต้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สสจ.กาญจนบุรี อบจ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี ในการทำข้อตกลงที่จะส่งแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน ออกตรวจประชาชนร่วมกับ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนมายัง อบจ. อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ราว 50 แห่ง

นพ.ประวัติ เล่าถึงการบริหารจัดการว่า อบจ.กาญจนบุรี จะได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เป็นแบบ Fixed cost (ต้นทุนคงที่) เหมือนเดิม แต่การบริหารจัดการจะไม่เหมือนเดิม

ทั้งนี้ อบจ.กาญจนบุรี จะถัวเฉลี่ยงบประมาณที่ได้รับมา เพื่อนำไปบริการด้านอื่นๆ ที่ดูแลสุขภาพประชาชนเพิ่มเติมได้ เช่น การจ้างแพทย์เกษียณ หรือแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนให้ออกตรวจประชาชน เมื่อมีการตรวจรักษา ก็จะมีการวางบิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก อบจ.

"หากมีแพทย์ออกไปตรวจอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง นี่ก็เป็นการพัฒนาแล้ว เป็นการเริ่มก้าวแรกของการกระจายอำนาจที่ช่วยส่งเสริม ดูแล ป้องกันสุขภาพให้ประชาชนตั้งแต่ฐานราก และสุดท้ายการกระจายอำนาจจะทำให้ รพ.สต. เป็น Gate Keeper ที่เป็นด่านแรกของการดูแลสุขภาพให้ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป ได้ลดภาระงาน และลดความแออัดได้" นพ.ประวัติ ย้ำ

การจัดระบบบริการปฐมภูมิของ จ.กาญจนบุรี ในมุมหนึ่งขึ้นอยู่กับ “ความกล้า” โดย “นพ.ประวัติ’ บอกว่า นี่คือความกล้าของทั้ง นพ.ชาติชาย (สสจ.กาญจนบุรี) และนายสุรพงษ์ (นายกอบจ.กาญจนบุรี)  ที่มองว่า หากทำแบบเดิม ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การกระจายอำนาจก็เสียเปล่าไม่มีประโยชน์ จึงตกลงทำระบบการเบิกจ่ายค่าบริการสิทธิบัตรทองที่ได้รับการจัดสรรรายหัว ที่จะสะท้อนตัวเลขค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของ รพ.สต.ในการใช้ดูแลสุขภาพของประชาชน ว่ามีการตามจ่ายค่าบริการข้ามเครือข่ายในการให้บริการประชาชนตามสิทธิบัตรทองที่จำนวนเท่าใด

รวมถึงกรณีที่ รพ.สต.ขาดทุน ที่ผ่านมาจะมีเงินซัพพอร์ตจากโรงพยาบาลแม่ข่ายที่อุดหนุนเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการอุดหนุนให้ รพ.สต. แต่นั่นทำให้ไม่เห็นตัวเลขแท้จริงของงบประมาณรายหัวของประชาชน

อบจ.กาญจนบุรี จึงเลือกเข้ามาบริหารจัดการเองทั้งหมด เพื่อให้เห็นตัวเลขที่แท้จริงออกมา ให้สะท้อนได้ว่างบประมาณรายหัวของประชาชนเพียงพอหรือไม่ต่อการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งหากขาดทุนหรือมีตัวเลขติดลบ อบจ.กาญจนบุรี ก็ต้องใส่เงินซัพพอร์ตเข้าไป ก็อาจพูดได้ว่า อบจ.ยอมเจ็บตัว เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพในพื้นที่สำหรับอนาคตด้วย

นพ.ประวัติ ย้ำด้วยว่า ตัวเลขงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับประชาชน ผ่านการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. จะทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ว่าการจัดสรรงบประมาณรายหัวในสิทธิบัตรทองให้กับประชาชน เพียงพอต่อการให้บริการหรือไม่

ดีขึ้นกว่ารับคำสั่งจาก ส่วนกลาง

นพ.ประวัติ ให้มุมมองต่อการกระจายอำนาจ จาก สธ. มาอยู่กับ อบจ. ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี และเชื่อมั่นว่าจะทำให้ระบบบริการสุขภาพ ที่เป็นบริการสาธารณะในชุมชนดีขึ้น มากกว่าการรับคำสั่งแบบเดิมจากส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นอย่าง อบจ. จะสามารถใช้วิธีการบริหารที่หลากหลาย เพื่อให้บริการกับประชาชนให้ดีกว่าเดิม

"การกระจายอำนาจเรื่องบริการสุขภาพปฐมภูมิ จาก สธ. มาให้กับ อบจ. ทั้งงาน คน ของ และเงิน จะมีความยืดหยุ่นของการบริหารจัดการที่ดีกว่าของ สธ. เพราะ อบจ.จะมีกลไก ระเบียบ วิธีที่หลากหลายมากกว่า สำหรับการจัดสรรบริการสาธารณะอย่างบริการสุขภาพปฐมภูมิไปสู่ประชาชน เมื่อเรามองแบบนี้ ก็จะเห็นภาพได้เลยว่า ประชาชนมีแต่จะได้ประโยชน์ เพราะ อบจ.เองก็ต้องพัฒนาระบบบริการให้กับประชาชน ที่เลือกตั้งให้เข้ามาทำงาน" นพ.ประวัติ ให้ความเห็น

นพ.ประวัติ ขยายความในอีกด้านหนึ่ง ที่การกระจายอำนาจครั้งนี้ อาจจะมีบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เพราะภารกิจ บุคลากร งบประมาณที่เคยบริหารจัดการบริการสุขภาพปฐมภูมิ จะต้องถูกให้อีกหน่วยงาน หรืออีกกระทรวงเข้ามาบริหารจัดการ อาจเรียกได้ว่าเสียการปกครอง และสูญเสียอำนาจเดิมที่เคยมี

แต่เหรียญอีกด้าน  นพ.ประวัติ มองว่า หากไม่คิดเยอะจนเกินไปและมองให้รอบคอบ จะเห็นว่าการกระจายอำนาจนี้่ไม่มีใครเสียประโยชน์เลย ทั้งสธ. และอบจ. แต่ประโยชน์จะไปตกอยู่กับประชาชน ที่จะมีโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างเท่าเทียม มีบริการที่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ด้วยกันทั้งจังหวัด

การพัฒนาที่เกิดขึ้นที่เป็นก้าวแรกอันสำคัญของการกระจายอำนาจถ่ายโอน รพ.สต. “นพ.ประวัติ” บอกว่า การเริ่มต้นครั้งนี้ ก็เพียงพอที่จะทำให้คนกาญจนบุรี ได้รู้สึกถึงช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มันแคบลง และรับรู้ถึงการถูกใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจ แต่ถ้าหาก นายกอบจ. ไม่ขยับ หรือคิดว่าระบบบริการเดิมที่ สธ.ทำอยู่นั้นดีแล้ว การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

"รับถ่ายโอนมาแล้วแต่ไม่พัฒนา หรือเพลย์เซฟ ก็จะทำแบบเดิม ซึ่งผลที่ได้ก็จะได้แบบเดิม ไม่มีคุณ-ไม่มีโทษ ฉะนั้นของแบบนี้ต้องอาศัยความกล้า คือคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และเห็นโอกาสว่าจะบริหารจัดการเพื่อทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยงบประมาณก้อนเดิมได้

“การกระจายอำนาจนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของ อบจ. ในเมื่อมีวิธีหลากหลาย ยืดหยุ่นได้ในการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แล้วจะทำแบบเดิมไปทำไม" นพ.ประวัติ ตั้งคำถาม