ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด เราเห็นบทบาทของ

“ร้านยา” ในฐานะ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ที่คอยสนับสนุนและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุข หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ โครงการ “เจอ แจก จบ’ ดูแลผู้ป่วยโควิดอาการน้อย หรือกลุ่มสีเขียว โดยเภสัชกร ที่ผู้มีผล ATK บวก สามารถรับยาและได้รับคำแนะนำในการใช้ยาและการปฏิบัติตัวได้ทันทีจากร้านยาที่ร่วมโครงการ

ในปีงบประมาณ 2566 นี้ “ร้านยา” จะมีบทบาทเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินโครงการ ‘ผู้ป่วยบัตรทองเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ รับยากับเภสัชกรที่ร้านขายยาได้ทันทีเพื่อใช้การบรรเทาอาการเบื้องต้นโดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย

​“The Coverage” พูดคุยกับ ภญ. เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม ถึงโครงการที่เพิ่งจะเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

โครงการที่ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses)” สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองทุกคน

1

กว่า10 ปี กับการผลักดัน ‘ร้านขายยา’ เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

​ภญ.เพ็ญทิพา เล่าว่า เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีมาแล้ว ที่วิชาชีพเภสัชกรชุมชน โดย สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเภสัชกรชุมชนได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพยายามขับเคลื่อนร้านยาให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ( สปสช.) จนเริ่มประสบความสำเร็จเมื่อปี 2562 ที่มีการประกาศให้ “ร้านยาเป็นหน่วยร่วมบริการ” ในที่สุด

ทำให้ในปี 2562 เป็นจุดแรกที่ร้านยาเข้ามาช่วยเรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่มารับยาที่ร้านยา และมีเภสัชกรที่ร้านยาช่วยดูแลติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยในโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น ลดความแออัด”

​เมื่อมาถึงช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สภาเภสัชกรรมก็ได้เสนอการดูแลผู้ป่วยที่มีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นบวก เริ่มจากการที่ สปสช.ให้ร้านยาช่วยแจกชุดตรวจให้ประชาชน และก็พบว่าเมื่อประชาชนเข้าถึงชุดตรวจมากขึ้น ผลบวกก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

สภาเภสัชกรรม (ในวาระปัจจุบัน) จึงเสนอแนวทางให้ เภสัชกรที่ร้านยาช่วยดูแลให้คำแนะนำการใช้ยาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่างๆ” โดยมีการกำหนดมาตรฐานการดูแล ติดตามอาการ ชุดยาที่จำเป็นรวมทั้งแนะนำวิธีการใช้ยาตลอดจนการปฏิบัติตน ในผู้ติดเชื้อกลุ่ม “ สีเขียว “ ซึ่งคือ “โครงการร้านยา เจอ แจก จบ “ที่ให้บริการมาจนถึงปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยราว 700 ร้านยา และมีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลราว 6 หมื่นคน

3

16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ‘Common illness’

​หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มซาลง และประชาชนมีความเชื่อถือ-ชื่นชมเภสัชกรมากขึ้น สภาเภสัชกรรมได้นำเสนอกับ สปสช. ถึงอีกหนึ่งตัวเลือกในการลดความแออัดของโรงพยาบาล

นั่นคือ การดูแลในรูปแบบเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common illness) มารับยาที่ร้านยาในปีงบประมาณ 2566

​“ในอดีตเราบอกว่าลดความแออัดโดยการดึงคนไข้ NCDs ออกมา แต่ถ้าลดความแออัดโดยการที่ไม่เอาคนไข้เจ็บป่วยเล็กน้อยเข้าไปแออัดในโรงพยาบาลด้วยจะดีไหม?”

​ภญ.เพ็ญทิพา อธิบายว่า สภาเภสัชกรรมได้มีการเสนอรูปแบบ และมาตรฐานการทำงานว่าจะดูแลในกลุ่มโรคใดบ้างที่เข้ามารับบริการที่ร้านยาบ่อยๆ ซึ่งก็ได้มีการกำหนดมาตรฐาน กำหนดกลุ่มโรค รายการยา  มาตรฐานในการทำงานของร้านยาที่จะต้อง “ผ่านการอบรม” เพื่อให้มีมาตรฐานในการดูแลประชาชน ตลอดจนมาตรฐานในการจ่ายยา และบันทึกข้อมูลการติดตาม ให้ได้คุณภาพที่ดีเป็นมาตรฐานเดียวกัน

​“นี่เป็นสิ่งที่เราเสนอ สปสช. ไป มีซึ่งก็มีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานต่างๆ จนกระทั่ง สปสช. เห็นประโยชน์ตรงนี้เลยประกาศให้การจ่ายยา Common illness เจ็บป่วยเล็กน้อยมาที่ร้านยา จนนำมาสู่การกำหนด “16 กลุ่มอาการ” สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองที่จะเข้ามารับบริการที่ร้านยา(https://www.thecoverage.info/news/content/4210) จากฐานคิดเดิมคือการช่วยลดความแออัด” และประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของระบบหลักประกันสุขภาพได้ง่ายและสะดวกขึ้น

​ภญ.เพ็ญทิพา ขยายความว่า สิ่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวคือ “ไม่มีค่าใช้จ่าย” สามารถเดินเข้ามาที่ร้านยาพร้อมบัตรประชาชนสำหรับใช้ยืนยันตัวตน ไปพร้อมๆ กับการได้รับยาบรรเทาอาการเบื้องต้นพร้อมคำแนะนำต่างๆจากเภสัชกร และได้รับการติดตามอาการใน 3 วัน หลังจากได้รับยาไปแล้ว ว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นก็จะแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ต่อไป

​ขณะเดียวการร้านยาที่จะเข้าร่วมดูแลกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย จะต้องเป็น “ร้านยาคุณภาพ” ที่ผ่านการอบรมและได้รับใบรับรองจากสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานของการให้บริการนี้

​“การให้บริการ Common illness ในร้านยาถือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งของงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ทั้งนี้คำว่างาน “ปฐมภูมิ “ ของร้านยานั้น สามารถช่วยได้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ฉะนั้นงานตรงนี้เป็นเรื่องของการเข้าถึงในระดับบุคคลที่เจ็บป่วย”

1

บทบาทการสร้างเสริมสุขภาพฯ ‘ อีกงานหนึ่งของร้านยา เพื่อบริการคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ์’

​สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิก็ได้เริ่มแล้วที่ร้านยา เช่น การแจกยาคุมกำเนิด การแจกถุงยางอนามัย ฯลฯ รวมไปถึงการคัดกรองความเสี่ยงโรคเมตาบอลิกฯ จะขยายไปทั่วประเทศ แต่ขณะนี้อาจจะยังไม่พร้อม 100 % เนื่องจากต้องเตรีมการหลายอย่างเพื่อการให้บริการที่ดีและมีคุณภาพ ทั้ง ระบบ การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ฯ และการลงโปรแกรมการใช้งานต่างที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ร้านขายยากำลังทะยอยสมัครเข้ามาร่วมอย่างต่อเนื่อง

​“งานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในปี 66 ของ สปสช.” นอกจากจะเป็นเรื่องการคัดกรองความเสี่ยงต่างๆแล้ว ยังมีการแจกยาเม็ดคุมกำเนิด  ถุงยางอนามัย  ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก  ชุดตรวจการตั้งครรภ์ การทำงานของร้านยาไม่ใช่แจกอย่างเดียว แต่ต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย

รวมไปถึงการคัดกรองก็ต้องมีเกณฑ์ไม่ใช่แค่บอกว่าเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ถ้าเสี่ยงน้อยก็ต้องให้ความรู้ คำแนะนำ เพื่อไม่ให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นโรค แต่ถ้าเสี่ยงแล้ว และมีอาการ หรือค่อนข้างแน่ใจจากการคัดกรองว่าเสี่ยง ต้องแนะนำส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการตรวจติดตามต่อไป”

​ร้านยาที่จะให้บริการสร้างเสริมสุขภาพนี้ จะใช้มาตรฐาน Good pharmacy practice (GPP) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร (อย.)  แต่ทุกร้านฯ ก็จะต้องผ่านการอบรมกับสภาเภสัชกรรมก่อนให้บริการเช่นเดียวกัน

​งานบริการทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นการพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นบทบาทของ “ ร้านยา ”ที่สามารถช่วยเติมระบบสุขภาพของประเทศ  ทำให้ประชาชนสามารถการเข้าถึงบริการต่างๆของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สะดวกและทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ