ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพของ “โรงพยาบาลสังขละบุรี” โรงพยาบาลประจำอำเภออีกแห่งของ จ.กาญจนบุรี ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข หลังลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมการให้บริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลแห่งนี้

ภาพของโรงพยาบาลแห่งนี้ สวนทางกับภาพจำของโรงพยาบาลชายขอบแห่งอื่นๆ ทั้งความสะอาดของสถานพยาบาล ความเป็นระเบียบสวยงาม ไม่ต่างไปจาก “โรงพยาบาลเอกชน” ในตัวเมืองที่คนคุ้นชิน

ทว่า นี่คือสถานพยาบาลของภาครัฐ ที่ใครหลายคนเรียกว่า พื้นที่กันดาร

ด้วยวิสัยทัศน์การบริหารของทีมผู้บริหารโรงพยาบาลสังขละบุรี และการสนับสนุนจาก “นพ.ประวัติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ผู้ซึ่งเคยพลิกฟื้นสถานการณ์ขาดทุนระดับ 7 ให้กลับเป็นบวก ด้วยเวลาไม่กี่อึดใจ

2

“นพ.ประวัติ” บอกกับ The Coverage ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ โรงพยาบาลสังขละบุรีจะเพิ่มบริการรับ-ส่งผู้ป่วยทางอากาศ หรือ Sky Doctor อีกด้วย

นพ.ประวัติ เล่าให้ฟังว่า การปรับปรุงโรงพยาบาลของรัฐในจ.กาญจนบุรี เกิดจากนโยบาย  EMS (Environment, Modernization and Smart Service) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาสถานพยาบาล ให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนต่อการจัดบริการรูปแบบใหม่ให้ครอบคลุม ในทุกมิติสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มาดังกล่าว จึงทำให้เกิดวิสัยทัศน์ของทีมผู้บริหาร และบุคลากรทุกคนของโรงพยาบาลสังขละบุรี ที่จะปรับปรุงสถานพยาบาล รวมถึงการบริการสุขภาพให้กับประชาชนชาว อ.สังขละบุรี ประชากรกลุ่มชายขอบ รวมถึงคนต่างด้าวที่ข้ามแนวชายแดนกัน โดยไม่สนใจว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล กันดาร แต่คำนึงถึงถึงประชาชน ที่ทุกคนอยากได้รับบริการสาธารณสุขที่ดี

"ต้องให้เครดิตทีมโรงพยาบาลสังขละบุรี ที่นำรายได้จากการบริการโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จนได้เป็นผลกำไร และนำเงินส่วนนี้มาปรับปรุงพัฒนา ไม่ให้เงินไปนอนอยู่ในบัญชีเฉยๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าปรับปรุง รีโนเวทออกมาได้ดีอย่างมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งก็ว่าได้ แม้แต่ประชาชนยังตกใจ และรู้สึกชื่นชอบ รวมไปถึงเกินความคาดหวังของผู้ป่วย ประชาชน ที่ราชการ สามารถจัดบริการได้ดีขนาดนี้" นพ.ประวัติ กล่าวชื่นชม

การเปลี่ยนแปลง ที่ นพ.ประวัติ ฉายภาพให้เห็น เรียกได้ว่าเกิดขึ้นในแทบทุกมิติของโรงพยาบาลสังขละบุรี เริ่มจากสภาพแวดล้อม มีการปรับปรุงอาคาร ให้สวยงาม สะอาด น่าใช้บริการ ขณะที่ระบบบริการสุขภาพ ได้มีการปรับปรุงตึกผู้ป่วยใน ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานตึกผู้ป่วยใน ที่มีอุปกรณ์การทางการแพทย์เพื่อดูแลคนไข้ที่ทันสมัย

1

รวมไปถึงการเพิ่มบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะกับการรับ-ส่งผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาลสังขละบุรี ได้ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการให้บริการ Sky Doctor เพื่อส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสังขละบุรี ไปยังโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ในเวลา 40 นาที ร่นระยะเวลาจาก 3 ชั่วโมงลงมาได้

"Sky Doctor ให้บริการกรณีฉุกเฉินกับ 'คนทุกคนอย่างเท่าเทียม' ทั้งคนไข้ที่อยู่ภาวะช็อก กลุ่มคนไข้ฟาสแทรกที่ต้องได้รับการดูแลเร่งด่วน รวมถึงอาการสโตรกต่างๆ ที่ฉุกเฉิน" นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ บอกด้วยว่า เราอยากให้เกิดโรงพยาบาลแบบนี้ทุกพื้นที่ อยากให้คนกาญจนบุรีได้รับบริการที่ดีแบบนี้ในทุกอำเภอ ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาล หลายอำเภอ-ตำบล ก็เริ่มปรับปรุงสถานที่ การบริการ ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปลายทางแล้ว คนกาญจนบุรีได้เข้าถึงบริการสาธาณสุขที่ดี ทั้งการบริการ และสถานที่ที่เข้ารับบริการ

วิสัยทัศน์ของทีมจากโรงพยาบาลสังขละบุรี ที่มองเห็นการรักษาผู้ป่วยด้วยความเท่าเทียม และมุ่งหวังให้ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขจากโรงพยาบาลของรัฐอย่างดี และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้โรงพยาบาลสังขละบุรี ได้รับเสียงชื่นอย่างมาก

นพ.กฤษดา วุธยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี เล่าว่า การพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อให้บริการสาธารณสุขให้กับประชาชนดียิ่งขึ้น เกิดจากความต้องการของบุคลากรในโรงพยาบาลด้วยกัน ที่ต้องการพัฒนาโรงพยาบาลสังขละบุรี ไปสู่สถานพยาบาลของรัฐชั้นนำในเขตพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่ติดแนวตะเข็บชายแดน และหวังว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับสถานพยาบาลอื่นๆ ได้นำไปใช้เพื่อปรับปรุงการบริการ

3

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสังขละบุรี ปรับปรุงพัฒนาในทุกเรื่อง เริ่มจาก มีหน่วยบริการไตเทียม ที่ให้บริการฟอกไต ฟอกเลือดกับผู้ป่วยในพื้นที่ ทั้งคนไทย และคนต่างด้าว รวมถึงทุกสิทธิ์การรักษา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่ห่างไกล รวมไปถึง ยังมีบริการผ่าตัด ที่โรงพยาบาลได้จ้างการบริการจากศัลยแพทย์ในพื้นที่เพื่อช่วยดูแลรักษาคนไข้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อม อาคาร สถานที่ของโรงพยาบาล ก็มีการปรับปรุงให้เกิดความทันสมัย มีอุปกรณ์การรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ รวมถึงมีบริการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ ที่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที

แต่กระนั้น นพ.กฤษดา ยอมรับว่า การพัฒนาปรับปรุงสถานพยาบาลของภาครัฐ เรื่องงบประมาณคืออุปสรรคปัญหามากที่สุด อย่างเช่นที่โรงพยาบาลสังขละบุรี ก็ต้องมีการวางแผนการบริหารเพื่อให้โรงพยาบาลมีการบริการด้านอื่นๆ ที่ทำรายได้ และมีกำไร เพื่อให้มีเงินทุนส่วนนี้เข้ามาปรับปรุงพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น เพราะหากรอแต่งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนา

“พื้นที่ของเรามีผู้ป่วยมาใช้บริการทุกสิทธิ์ รวมถึงคนต่างด้าวที่เราก็ต้องรักษา แม้ว่าบางรายจะเก็บค่าบริการไม่ได้ และมีผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารจัดการก็ตาม แต่ก็ต้องให้บริการอย่างเท่าเทียม รวมไปถึงต้องบริหารจัดการให้เกิดผลกำไร และนำผลกำไรนั้นมาปรับปรุงพัฒนา กลับไปคืนให้กับประชาชนที่เข้ามาบริการ เรียกว่า Take & Give ก็ได้” นพ.กฤษดา กล่าวในตอนท้าย