ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ “กลุ่มพยาบาล จ.ศรีสะเกษ 166 ชีวิต” ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ยื่นหนังสือถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เรียกร้องให้สำนักงานปลัด สธ. เปิดไฟเขียวอนุมัติให้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อสนับสนุนการทำงานแนวหน้าร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

เกิดคำถามและข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลุ่มพยาบาลเหล่านั้นเกี่ยวอะไรด้วย ทั้งที่ไม่ได้อยู่ รพ.สต.

เพื่อตอบคำถามนี้ “The Coverage” ไม่รอช้า ... ยกหูซักถาม “นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์” ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทันที

นายเลอพงศ์ อธิบายว่า ตามคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ระบุว่า ให้บุคลากรที่อยู่ รพ.สต. ถ่ายโอนโดยความสมัครใจ

“แต่เนื่องจากการประชุมของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ฝั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สิทธิเปิดกว้างสำหรับบุคลากรที่อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) หน่วยอื่น เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมไปถึงโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ สามารถสมัครใจถ่ายโอนได้เช่นกัน”

อย่างไรก็ดี การถ่ายโอนภารกิจฯ ในปีแรก เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีบุคลากรนอก รพ.สต. สมัครใจถ่ายโอนมาประมาณ 1,000 กว่าคน มากไปกว่านั้นเมื่อเปิดให้ถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2567 ตามที่ได้ให้แจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 31 ต.ค. 2565 ปรากฏว่ายังไม่ถึงวันที่ 31 ต.ค. ฝั่ง สธ. ได้ข้อมูลว่ามีบุคลากรกลุ่มดังกล่าวสมัครมาเป็นจำนวนมาก เฉพาะโรงพยาบาลบางแห่ง โรงพยาบาลเดียวมีพยาบาลสมัครใจถ่ายโอนประมาณ 30-40 คน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการบริการประชาชน

2

“ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ทาง สธ. แจ้งขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขว่า หากบุคลากรเหล่านี้มีชื่อขอถ่ายโอน ขอให้ทาง สธ. โดย สสจ. สสอ. หรือผู้บังคับบัญชา เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณาเป็นรายกรณี”

ทั้งนี้ ในที่ประชุมก็เห็นด้วยเพราะเห็นว่ามีผลกระทบจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเห็นไปว่าบุคลากรที่อยากจะให้ถ่ายโอน ซึ่งก็คือบุคลากรปฏิบัติอยู่ในงานปฐมภูมิ เช่น นาย จ. อยู่ รพ.สต. แต่ตัวไปปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาล และ นาย จ. อยู่ที่โรงพยาบาล แต่ตัวไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ รพ.สต. 2 กลุ่มนี้ สธ. เห็นด้วยกับการถ่ายโอนหรือไม่ ซึ่ง สธ.ก็บอกว่าถ้าอยู่ใน 2 กรณีนี้ยินดีให้ถ่ายโอน

“แต่คราวนี้เกิดปัญหาว่าพอกระทรวงสาธารณสุขส่งหนังสือเวียนไปทั่วประเทศ โดยให้บุคลากรเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา แต่ปรากฏว่าทางผู้ปฏิบัติตีความหนังสือไม่เหมือนกัน ฉะนั้นก็จะมีหลากหลาย บางจังหวัดไม่อนุญาตแม้แต่คนเดียว บางจังหวัดก็ปล่อยมาบ้างตามเจตนาหนังสือ” นายเลอพงศ์ ระบุ

นายเลอพงศ์ อธิบายต่อไปว่า ตามที่ สธ.ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ก็มีมติเห็นชอบในหลักการว่าให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาบุคลากรที่ทำงานอยู่ในหน่วยปฐมภูมิเป็นรายกรณี ซึ่งจริงๆ ก็เห็นว่าหนังสือที่ส่งไปมีความชัดเจน แต่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะไม่ได้ดูรายละเอียดว่ามีกรณีใดบ้างที่ควรอนุญาตให้ถ่ายโอน

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่าได้มีการเขียนแนวทางเอาไว้ว่าสำหรับบุคลากรใน รพ.สต. เท่านั้น ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎหมาย แต่ในเงื่อนไขรายละเอียดที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ตรงนี้ก็จำเป็นจะต้องมาลงลึกในรายละเอียดว่ารายกรณีกับผู้ที่ปฏิบัติในงานปฐมภูมิของโรงพยาบาล ฯลฯ ก็ควรที่จะอนุมัติให้ถ่ายโอนมา ส่วนในรายละเอียดเพิ่มเติมอาจจะต้องพูดคุยในที่ประชุมครั้งต่อไป

“อนุฯ ไม่อยากก้าวล่วงกระทรวงสาธารณสุข ของเราเขียนไว้เฉพาะบุคลากรใน รพ.สต. เราไม่อยากไปล้ำเส้นเขา” นายเลอพงศ์ ระบุ