ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงเสวนา ‘Clear Aligner ถูกวิชาการ ถูกกฎหมาย และถูกใจผู้บริโภค ต้องทำอย่างไร’ ได้ข้อสรุป 5 ประเด็น เกี่ยวกับ “การจัดฟันใส” ระบุ ต้องมี ‘ทันตแพทย์’ ดูแลทุกขั้นตอน


ทันตแพทยสภา สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และบริษัทผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จัดฟันใส 13 บริษัท จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ “Clear Aligner ถูกวิชาการ ถูกกฎหมาย และถูกใจผู้บริโภค ต้องทำอย่างไร” เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 เพื่อจัดทำแนวทางและข้อเสนอเกี่ยวกับ “การรักษาด้วยอุปกรณ์จัดฟันใส” ภายหลังเป็นที่นิยมและมีคำถามจากประชาชนถึงความปลอดภัย

ทั้งนี้ เวทีเสวนาได้ข้อสรุปแนวทางการรักษาด้วยอุปกรณ์จัดฟันใสใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การจัดฟันใสเป็นการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ที่ต้องมีทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้การดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การสแกนฟัน การให้ข้อมูลแผนการรักษา ข้อจำกัด และภาวะแทรกซ้อนของการรักษาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ทันตแพทย์จะต้องติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ จนสิ้นสุดการรักษา รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการรักษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการทางทันตกรรมจัดฟัน

1

2. การสแกนฟันในช่องปาก เป็นขั้นตอนหนึ่งในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม จะต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์ หรือภายใต้การควบคุมของทันตแพทย์ และทำในสถานพยาบาล คลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

3. ปัจจุบันการผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์จัดฟันใสซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ผู้ประกอบการต้องดำเนินการจดทะเบียนสถานที่ผลิตหรือนำเข้า และต้องจดแจ้งหรือแจ้งรายการละเอียดผลิตภัณฑ์จัดฟันใสก่อนการผลิตหรือนำเข้า รวมทั้งการแสดงฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง ส่วนในการโฆษณาต้องได้รับใบอนุญาตโฆษณาก่อน ทั้งนี้ผู้ประกอบการ ต้องระมัดระวังในการทำโฆษณาผลิตภัณฑ์จัดฟันใสให้เป็นไปตามระเบียบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างเคร่งครัด

2

3

4. ทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องพึงระมัดระวังในการโฆษณาจัดฟันใสให้เป็นไปตามข้อบังคับจรรยาบรรณการโฆษณาของทันตแพทยสภา และข้อปฏิบัติการโฆษณาสถานพยาบาลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

5. ประชาชนที่ตัดสินใจไปรับการรักษาด้วยอุปกรณ์จัดฟันใส ควรจะศึกษาข้อมูล ข้อดี ข้อจำกัดของอุปกรณ์จัดฟันใส โดยที่ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลจากทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาในเรื่องแผนการรักษา ข้อจำกัดของการเคลื่อนฟัน ผลดี ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงระยะเวลาการรักษา และค่าใช้จ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจที่จะรับการรักษา

ผศ.ทพ.ตร.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา วาระ 10 ในฐานะประธานการจัดสัมมนา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาได้รับการสอบถามจากประชาชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสามารถรับบริการจัดฟันใสกับบริษัทต่างๆ โดยตรงได้หรือไม่ หรือไปสแกนฟันกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท หรือสั่งซื้อชุดพิมพ์ฟันมาทำเองจะมีความปลอดภัยหรือไม่ หรือหากประชาชนเสียค่าใช้จ่ายแล้วไม่ได้ผลการรักษาตามที่ตกลงกันไว้จะต้องดำเนินการอย่างไร ฯลฯ

3

ทั้งนี้ การจัดฟันใสเป็นการเคลื่อนฟันทีละน้อย สัปดาห์ละ 0.2 มิลลิเมตร ต้องอาศัยความแนบของผลิตภัณฑ์จัดฟันใสกับฟันในแต่ละชุด ต้องมีการตรวจติดตามประเมินผลจากทันตแพทย์เป็นระยะๆ รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟันต่อเนื่องหลังจากรักษาเสร็จ ฉะนั้นการโฆษณาในโลกออนไลน์ที่อาจสุ่มเสี่ยงเกินความเป็นจริง หรืออาจเข้าใจผิดคาดเคลื่อนจากความจริง รวมถึงอัตราค่าบริการจัดฟันใสเองมีราคาค่อนข้างสูงทำให้ความคาดหวังของผู้บริโภคก็สูงตาม ที่สุดแล้วจะส่งผลต่อการสุ่มเสี่ยงร้องเรียนในอนาคตได้

อนึ่ง ทันตแพทยสภามีหน้าที่ในการให้ความรู้และคำแนะนำด้านสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงจัดการสัมมนาขึ้นโดยมีวิทยากรรับเชิญจากผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทพญ.เรืองรัตน์ โกมลภิส นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องแพทย์ ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา และ ทพ.วัฒนะ ศรีวัฒนา อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการจำหน่ายผลิตเครื่องมือจัดฟันใส จำนวน 18 แห่ง และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค